การแก้ไขอาคารทรุดตัว(ตอน2)

เมื่อพบว่าอาคารทรุดตัวผิดปกติสามารถแก้ไขได้โดยทำเสาเข็มเสริมตรงตำแหน่งฐานรากที่มีปัญหา โดยทั่วไปแล้วเสาเข็มที่ใช้ก่อสร้างอาคารพอแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ เสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะ แต่เสาเข็มที่ใช้ในการเสริมฐานรากเพื่อแก้ไขการทรุดตัวนั้นต้องทำในพื้นที่คับแคบ ดังนั้นเสาเข็มที่ใช้ปั้นจั่นตอกจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ สำหรับเสาเข็มเจาะที่ใช้เครื่องมือชนิดสามขาในการทำงานนั้นอาจนำมาใช้ได้ในบางกรณี แต่ก็ยังต้องการพื้นที่ในการทำงานมากและขณะทำเสาเข็มก็เกิดแรงสั่นสะเทือนมากซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้อาคารทรุดตัวเร็วขึ้น จึงไม่เหมาะกับอาคารที่มีปัญหาทรุดตัวมากๆ เสาเข็มที่เหมาะจะนำมาใช้เสริมฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาการทรุดตัวควรมีคุณสมบัติดังนี้

• สามารถติดตั้งได้ในพื้นที่คับแคบ
• เกิดแรงสั่นสะเทือนน้อยที่สุดในขณะติดตั้ง
• สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ทันทีเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ เสาเข็มชนิดที่สามารถแบกรับน้ำหนักได้ทันทีเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับอาคารที่มีปัญหาทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยชะลอการทรุดตัวไม่ให้ถึงขั้นวิกฤติ เสาเข็มที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้แก่ เสาเข็มที่ติดตั้งด้วยแม่แรงไฮดรอลิก ซึ่งอาจเป็นเสาเข็มชนิดที่เป็นเหล็กรูปพรรณหรือคอนกรีตก็ได้ เท่าที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเป็นเสาเข็มที่ใช้เหล็กรูปพรรณหน้าตัดรูปตัว H หรือ เป็นเสาเข็มที่ทำจากท่อเหล็กกลมกลวง การติดตั้งเสาเข็มประเภทนี้จะเริ่มต้นด้วยการขุดดินตรงตำแหน่งฐานรากที่ต้องการเสริมเสาเข็ม ความกว้างของรูขุดประมาณ 1.50 ม.ลึกประมาณ 2.00 – 2.50 ม. ถัดจากนั้นจะนำเหล็กที่มีหน้าตัดและขนาดตามต้องการมาตัดเป็นท่อนๆความยาวท่อนละ 1.00 – 1.50 ม. นำแต่ละท่อนมากดลงดินตรงตำแหน่งที่ต้องการให้เป็นเสาเข็มเสริม ตำแหน่งเสาเข็มเสริมควรอยู่ใกล้กับเสาตอม่อหรือเสาเข็มเดิมมากที่สุดเพื่อให้สามารถถ่ายแรงได้ดี และมักจะให้เสาเข็มอยู่ใต้ฐานรากหรือคานคอดินเพื่อสะดวกในการกดเสาเข็มลงดิน การกดเสาเข็มลงดินจะนำแม่แรงไฮดรอลิกมาวางบนหัวเสาเข็มเหล็กแล้วโยกแม่แรงขึ้นให้ดันกับคานคอดินหรือฐานราก น้ำหนักของตัวอาคารที่มากกว่าจะทำให้เกิดแรงดันย้อนกลับกดลงบนหัวเสาเข็ม เสาเข็มจะค่อยๆถูกดันลงดินด้วยแรงดันกลับเช่นนี้ เมื่อกดเสาเข็มเหล็กท่อนแรกลงดินจนเกือบมิดแล้วจะนำเหล็กท่อนต่อไปมาต่อโดยการเชื่อม และเมื่อเชื่อมต่อเสร็จแล้วก็จะใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดลงดินในลักษณะเช่นเดิมอีก ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องก็จะได้เสาเข็มที่มีความยาวตามต้องการ กำลังแบกรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มแต่ละต้นจะทราบได้จากตัววัดแรงดันที่ติดอยู่กับคันโยกของแม่แรงไฮดรอลิก เมื่อติดตั้งเสาเข็มแต่ละต้นจนได้ความลึกตามต้องการแล้ว สามารถถ่ายน้ำหนักจากฐานรากที่มีปัญหาลงเสาเข็มใหม่ได้ทันทีโดยการทำคานเหล็กถ่ายแรงหรือทำฐานรากใหม่รองรับฐานรากเดิม โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นอาคารที่มีน้ำหนักลงฐานรากไม่มากนักจะนิยมใช้คานเหล็กถ่ายแรง เพราะคานถ่ายแรงมีน้ำหนักไม่มากเมื่อเทียบกับฐานรากคอนกรีตเป็นการช่วยลดภาระแบกรับน้ำหนักของเสาเข็มเหล็กด้วยระดับหนึ่งขนาดหน้าตัดของเสาเข็มเหล็กที่ใช้จะขึ้นอยู่กับกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มที่ต้องการ ขนาดยิ่งใหญ่ก็จะยิ่งรับน้ำหนักบรรทุกได้มาก ขนาดหน้าตัดของเสาเข็มรูปตัว H ที่นิยมใช้คือ 15 x 15 , 20 x 20 และ 25 x 25 ซม. ความยาวเสาเข็มประมาณ 18 – 23 ม. รับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยได้ประมาณ 15 – 25 ตัน สำหรับเสาเข็มที่ใช้ท่อเหล็กกลมกลวงจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 , 20 และ 25 ซม. ความลึกประมาณ 18 – 23 ม. รับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยได้ประมาณ 15 – 25 ตัน เช่นกัน สำหรับเสาเข็มเหล็กชนิดที่ทำด้วยท่อเหล็กกลมกลวงเมื่อติดตั้งเสาเข็มได้ความยาวตามต้องการแล้ว อาจเทคอนกรีตกรอกลงในรูเข็มเพื่อให้ตัวเสาเข็มมีความแข็งแรงมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นปลายล่างของเสาเข็มมักจะทำเป็นปลายแหลมและเชื่อมปิดปลายเพื่อป้องกันไม่ให้ดินไหลเข้าขณะกดเสาเข็มลงดิน เสาเข็มประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่ราวๆ 35,000 -40,000 บาทต่อต้น ฐานรากแต่ละฐานที่มีปัญหาอย่างน้อยที่สุดต้องใช้เสาเข็มเสริม 1 ต้น หากมีน้ำหนักกดลงฐานรากมากและเสาเข็มเดิมบกพร่องใช้งานไม่ได้เลยอาจต้องเสริมมากกว่า 2 ต้น จำนวนเสาเข็มจะมากน้อยเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ลงฐานรากและสาเหตุการทรุดตัวของฐานรากนั้นๆ ซึ่งควรวิเคราะห์ก่อนที่จะแก้ไข..... เสาเข็มเหล็กหน้าตัดรูปตัว H ยาวท่อนละประมาณ 1.00 - 1.50 ม. ปลายเหล็กติดแผ่นเหล็กประกับไว้ต่อเชื่อม
ท่อเหล็กกลมกลวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. ยาวท่อนละ 1.50 ม. ปลายล่างสุดทำเป็นปลายแหลมเชื่อมปิดปลาย เพื่อป้องกันดินไหลเข้าขณะกดท่อเหล็กลงดิน เมื่อกดท่อนเหล็กลงดินได้ความยาวตามต้องการแล้วจะเทคอนกรีตกรอกลงในรูเสาเข็มเพื่อให้ตัวเสาเข็มมีความแข็งแรง
ขึ้น