อย่าเปลี่ยนชนิดของพื้นสำเร็จกับพื้นหล่อ




อย่าสุ่มสี่ สุ่มห้า เปลี่ยนพื้นสำเร็จ กับพื้นหล่อกับที่.. พังแน่นอน ?
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยเลย ว่าผู้รับเหมาบ้านเราหลายคนทำให้เกิดอาคารวิบัติ โดยรู้เท่า ไม่ถึงการณ์ โดยการ เปลี่ยนแปลง แบบวิศวกรรมโครงสร้าง ของพื้น จากพื้นหล่อกับที่ธรรมดา ไปเป็นพื้นสำเร็จ เพื่อการทำงาน ที่ง่ายกว่า… และบางทีก็เปลี่ยนจาก ระบบพื้นสำเร็จ ไปเป็นพื้นหล่อกับที่ ยามที่หาพื้นสำเร็จ ตามแบบไม่ได้ โดยมักจะบอกกับเจ้าของอาคารว่า… "เหมือนกัน"
ธรรมชาติของพื้นทั้งสองระบบนี้แตกต่างกันมาก และทำให้อาคารของท่านพังลงมาได้ง่าย ๆ … หากลองวิเคราะห์ถึงพื้นฐาน ของการรับแรงในคานดู จะเห็นได้ถึงความแตกต่าง อย่างเด่นชัด พื้นสำเร็จ เป็นการวางแผ่นพื้น ลงบนคานสองด้าน คือหัวและท้าย สมมุติว่าพื้นทั้งผืนนั้น ขนาด 6 x 6 เมตร รวมเป็นพื้นที่ 36 ตร.ม. ต้องการให้รับน้ำหนักได้ ตร.ม. ละ 200 กก. ทำให้จะต้องรับน้ำหนักได้ = 36 x 200 = 7,200 กก. และน้ำหนัก 7,200 กก. นั้นจะถ่ายลง บนคานหัวท้าย สองข้าง คานหัวท้าย จะแบ่งน้ำหนักกัน รับตัวละ = 7,200/2 = 3,600 กก. โดยที่คานด้านข้าง อีกสองตัว อาจจะไม่ได้รับแรงกดอะไรเลย ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเท่านั้น…. เมื่อเปลี่ยนพื้นสำเร็จ เป็นพื้นหล่อกับที่ การถ่ายน้ำหนัก จะถ่ายลงยังคานทั้ง 4 ตัว (ด้าน) ทำให้คาน แต่ละตัว ต้องรับน้ำหนัก = 7,200/4 = 1,800 กก. คานด้านข้างทั้งสอง ที่ออกแบบ ไม่ให้รับน้ำหนักอะไรเลย ก็ต้องมารับน้ำหนัก 1,800 กก. ทำให้คานนั้นหักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีพื้นต่อเนื่อง ทางด้านข้างอีก คานที่ไม่ได้ออกแบบมา ให้รับน้ำหนัก อาจจะต้องรับน้ำหนักถึง 3,600 กก. ทีเดียว ส่วนคานด้านหัวท้าย ออกแบบมาให้รับน้ำหนัก 3,600 กก. กลับมีน้ำหนักลงเพียง 1,800 กก. ซึ่งอาจจะทำให้ เกิดปัญหาอื่น ๆ ต่อเนื่องได้
ทำนองเดียวกัน หากเปลี่ยนพื้นหล่อกับที่ธรรมดามาเป็นพื้นสำเร็จ คานที่ออกแบบหัวท้าย รับเฉลี่ย 4 ส่วน ต้องมารับเฉลี่ยเพียง 2 ส่วน ก็จะรับน้ำหนักมากไป และจะเกิดการวิบัติได้ (ออกแบบไว้รับได้ 1,800 กก. ต้องมารับ 3,600 กก.)