ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการสร้างบ้าน

ปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน(สร้างไม่เสร็จ)ปัญหาการละทิ้งงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง จากผลสำรวจพบว่ามีจำนวนถึง 94 % ที่เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างมิได้ใส่ใจพิจารณาเกี่ยวกับ หลักฐานและหลักแหล่งที่อยู่ของผู้รับจ้างที่แน่นอนและมั่นคง (ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นบริษัทเล็กๆ มีพนักงาน 2 – 3 คน) เช่น ใช้ตึกแถวหรือบ้านเช่าทำเป็นสำนักงาน หรือผู้รับจ้างไม่เคยให้เจ้าของบ้านไปติดต่อที่สำนักงานเลยแต่เป็นผู้มาพบเองทุกครั้ง ฯลฯ ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกให้เป็นผู้สร้างบ้านนั้นจากสถิติ 89 % พบว่าเกิดจาก "ราคาถูกใจ(ราคาถูกเหลือเชื่อ)" และหลงคำพูดโฆษณาชวนเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น แบบบ้านที่จะสร้างเคยมีบริษัทอื่นเสนอราคาไว้ 1.5 ล้านบาท แต่ผู้รับจ้างบอกว่าแพงเกินไป ถ้าจ้างเขาก่อสร้างเฉพาะค่าแรงประมาณ 3 – 4 แสนบาท โดยเจ้าของบ้านจัดซื้อซื้อวัสดุเองรับรองไม่เกิน 1 ล้านบาท ร้อยทั้งร้อยครับ เจอผู้รับจ้างทิ้งงาน ! หรืออีกตัวอย่าง ผู้รับจ้างรายอื่นเสนอราคา 1.5 ล้านบาท แต่รายนี้เสนอราคาและตกลงทำสัญญาราคา 1 ล้านบาท สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้จริง งานงวดที่ 1 งวดที่ 2 ไม่มีปัญหา แต่พองวดที่ 3 เริ่มจะติดขัด ช่างขาดบ้าง วัสดุขาดบ้าง และเริ่มมีการขอเบิกเงินล่วงหน้า โดยเมื่อเกิดปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน ข้อมูลสำรวจพบว่า 98 % เจ้าของบ้านต้องหาผู้รับจ้างรายใหม่มาสร้างใหม่ และต้องจ่ายแพงกว่าไม่ต่ำกว่า 10 - 20 % ของราคาที่เคยคิดว่าแพงแล้ว(1.5 ล้านบาท) ส่วนเจ้าของบ้านอีก 2 % ยกเลิกการสร้างบ้าน(บางคนเป็นโรคประสาทไปเลยก็มีนะครับ)ข้อเสนอแนะ ถ้าจะใช้บริการจากผู้รับจ้างที่ราคาถูกมากๆ(ถูกเหลือเชื่อ) และเราพอใจราคาที่เขาเสนอมาต่ำกว่ารายอื่นๆ ท่านก็ควรจะตรวจสอบหลักแหล่ง หรือหลักฐานที่อยู่ของผู้รับจ้างให้มั่นใจเสียก่อน บ้านเขาอยู่ที่ไหนหรือสำนักงานที่ทำการเป็นของเขาจริงหรือเปล่า หรือว่าเช่าไว้เป็นสำนักงานให้ดูน่าเชื่อถือ ฐานะทางการเงินของเขาเป็นอย่างไร (มิใช่เขามีแค่กระป๋องปูนก็มารับจ้างสร้างบ้านของเรา) หรือถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็เลือกบริษัทรับสร้างบ้าน โดยพิจารณาจากบริษัทที่เขาเปิดเผยตัวเอง ไล่เรียงตั้งแต่อันดับที่ 1 – 20 ของเมืองไทย(น่าจะพอมีให้เลือกถูกใจบ้าง) รับรองไม่เจอปัญหาทิ้งงานแน่นอนครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค หากสมมุติว่าบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามสัญญา ท่านสามารถร้องเรียนไปยังสมาคมให้ช่วยเหลือได้ปัญหาก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ แต่ผลงานการสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานปัญหานี้จากการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของบ้านพบว่า 99 % มีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างทำการก่อสร้าง เพียงแต่เป็นปัญหาเล็กบ้างใหญ่บ้างแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้รับจ้างมือใหม่หรือมืออาชีพที่มีประสพการณ์มานาน และเราเองก็ต้องแยกแยะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากจากการจงใจหรือเกิดจากการพลาดพลั้งในการควบคุมขั้นตอนงานก่อสร้าง รวมทั้งผู้รับจ้างมีหลักการในการแก้ไขให้ถูกต้อง หรือสามารถแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่เป็นปกติได้หรือไม่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการแก้ไขด้วยการยึดหลักวิชาการและประสพการณ์ในฐานะมืออาชีพ(โดยวิศวกรและสถาปนิก) หรือแก้ไขไปตามความเข้าใจหรือด้วยประสบการณ์ในฐานะมือใหม่ อย่าเข้าใจผิดนะครับว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้มีประสพการณ์มานานจะทำงานไม่ผิดพลาดเลย(สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง) เชื่อว่ายังไงก็มีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน เพียงแต่เกิดขึ้นน้อยกว่ามือใหม่บางท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วเป็นมืออาชีพได้ยังไง(วะ) และบ้านที่สร้างจะไม่เกิดปัญหาตามมาหรืออย่างไร ซึ่งก็ต้องขอเรียนว่าโดยหลักการทำงานก่อสร้างทุกประเภทแล้ว แนวทางการออกแบบและคำนวณของสถาปนิกและวิศวกร ตลอดจนวิธีการก่อสร้างเขาจะเผื่อค่าความคลาดเคลื่อน และค่าการยอมรับเอาไว้แล้วครับ ซึ่งผู้รับจ้างที่เป็นมืออาชีพก็จะมีทีมงานสถาปนิกและวิศวกรหรือตัวแทน(โฟร์แมน) เป็นผู้ควบคุมขั้นตอนการก่อสร้างบ้านของท่านครับ และที่แน่ๆท่านได้บ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเข้าอยู่อาศัยได้ ไม่เจอปัญหาทิ้งงาน(เหมือนข้อแรก)ข้อแนะนำ ถ้าท่านไม่มั่นใจว่าปัญหาและข้อบกพร่องของการก่อสร้าง ที่เกิดขึ้นจากผู้รับจ้างหรือบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้รับการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ท่านสามารถขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนกับสมาคมได้ครับ(แต่ถ้าเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่ไม่อยู่ในสมาคม เข้าใจว่าคงไม่สามารถควบคุมกันได้ เพราะว่าไม่รู้ใครเป็นใคร)ปัญหาราคาแพง(ตามความเข้าใจของเรา)พบว่ามีผู้บริโภคที่อยู่ในระหว่างพิจารณาเลือกผู้รับจ้างสร้างบ้านถึง 81 % ตอบว่าบ้านราคาแพง ปัญหานี้ค่อนข้างยากเพราะมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรมากมาย และเจ้าของบ้านก็ไม่สามารถพิจารณารายละเอียดอย่างรู้จริงถึงเงินที่จ่ายไปกับสินค้าและบริการที่ได้รับ แต่มักจะใช้ความรู้สึกหรือวิธีการง่ายๆเปรียบเทียบ โดยเฉพาะวิธีเปรียบเทียบราคายอดฮิตคือ ราคาตารางเมตรละเท่าไร ? เอาเป็นว่าถ้าจะยกตัวอย่างการเปรียบเทียบเฉพาะในกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ในกรณีที่สินค้าและบริการใกล้เคียงกันหรือเกือบไม่แตกต่างกันควรพิจารณาดังนี้ครับกลุ่มที่ 1 1. บ้านสร้างเสร็จแน่นอน(ไม่ต้องเสี่ยงกับบ้านสร้างเสร็จหรือไม่) 2. การก่อสร้างได้มาตรฐานและมีคุณภาพปานกลาง3. มีเงื่อนไขและการบริการก่อนและหลังการขายเหมือนทั่วๆไปกลุ่มที่ 2 1. บ้านสร้างเสร็จแน่นอน(ไม่ต้องเสี่ยงกับบ้านสร้างเสร็จหรือไม่) 2. การก่อสร้างได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี 3. มีเงื่อนไขและการบริการก่อนและหลังการขายปานกลางกลุ่มที่ 31. บ้านสร้างเสร็จแน่นอน(ไม่ต้องเสี่ยงกับบ้านสร้างเสร็จหรือไม่) 2. การก่อสร้างได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง 3. มีเงื่อนไขและการบริการก่อนและหลังการขายครอบคลุมมากกว่า 4. ผลงานและฝีมือการก่อสร้างมีความปราณีตบริษัทที่ก่อสร้างบ้านได้ของกลุ่มที่ 3 จะกำหนดราคาสูงกว่าบริษัทอื่นและไล่เรียงตามลำดับกันไป ซึ่งท่านลองไปชมผลงานของบริษัทเหล่านั้นดูก็จะทราบว่ามีข้อแตกต่างกัน กระผมเปรียบเทียบให้เห็นเช่นนี้ก็ต้องการจะสื่อว่าต้นทุนของผู้รับจ้างในการบริหารจัดการ เพื่อตอบสนองความต้องการของเรานั้นแตกต่างกันครับ ซึ่งหากท่านได้รับสินค้าและการบริการที่ดีแตกต่างก็ย่อมจะจ่ายแพงขึ้นเป็นธรรมดา หากเลือกผู้รับจ้างที่ราคาต่ำลงมาก็ย่อมจะมาจาก การคำนวณต้นทุนค่าบริหารจัดการที่มีขีดจำกัดครับ และประเด็นสำคัญอย่าไปหลงเข้าใจผิดว่าบริษัทที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ราคาบ้านจะแพงกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีการโฆษณา เพราะว่าต้องบวกเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านด้วย ซึ่งขอบอกว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะเท่าที่กระผมทราบมาบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำเหล่านี้ จะใช้งบค่าโฆษณาประมาณ 2 – 2.5 % ของยอดขายต่อปีเท่านั้น ซึ่งบริษัทที่สามารถใช้เงินค่าโฆษณาต่อปีได้สูงก็เพราะมียอดขายต่อปีสูงเช่นกัน แต่หากเราจะมองในแง่บวกในฐานะของผู้บริโภค การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการก็มีผลดีต่อเราในฐานะผู้บริโภคอยู่บ้าง เพราะถือว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริษัทเหล่านี้กล้าเปิดเผยตัวเอง เพื่อต้องการจะสร้างชื่อเสียงของผู้บริหารและองค์กร ซึ่งหากเขามีเจตนาหรือตั้งใจที่จะผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ดีออกมา รับรองว่าการโฆษณานั้นจะกลายเป็นตัวเร่งทำให้เสียชื่อเสียงเร็วขึ้น และเชื่อว่าสินค้าหรือบริษัทก็คงจะอยู่ไม่ได้ในธุรกิจนั้นๆ(โธ่…ใครครับ จะโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคอยู่ได้นานนับ 10 ปี ยกเว้นผิดพลาดบ้างบางครั้ง) ในทางกลับกันผู้ประกอบการที่ไม่เปิดเผยตัวเอง หรือไม่มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ใดๆ เราเองก็จะไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใคร คิดอย่างไร ทำดีหรือไม่ดีไว้อย่างไรบ้าง ท่านคิดว่าแบบใดเสี่ยงกว่ากันครับสุดท้ายอยากจะให้ท่านเจ้าของบ้านตระหนักว่าการลงทุนสร้างบ้านหนึ่งหลังนั้น เราควรจะต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวให้มากๆ หากท่านมองเพียงแค่ค่าก่อสร้างส่วนต่างที่อาจจะแพงกว่า หรือถูกกว่ากันเป็นเงินหลักหมื่นบาทหรือหลักแสนบาท กับราคาค่าก่อสร้างบ้านหลักล้านบาทหรือหลายล้านบาทในวันนี้ มันอาจจะไม่คุ้มค่ากับอนาคตข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้ท่านสร้างบ้านหลังหนึ่งสมมุติว่าราคา 2.8 ล้านบาท โดยเลือกใช้วัสดุทั่วๆไปและไม่ใส่ใจในการก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 10 –15 ปี บ้านที่สร้างชำรุดทรุดโทรมหรือหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าปกติ(โดยทั่วไปโครงสร้างบ้านคอนกรีต วิศวกรจะคำนวณอายุการใช้งานไว้อย่างน้อย 50 ปี) ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นท่านอาจจะต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ แน่นอนว่าท่านจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเป็นเท่าตัวใน 10 – 15 ปีข้างหน้า แต่หากวันนี้ท่านใส่ใจเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพหรือมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน รวมทั้งเลือกผู้รับจ้างที่ก่อสร้างได้มาตรฐาน แม้ว่าราคาบ้านอาจจะแพงกว่า 2 - 3 แสนบาทหรือสมมุติว่าในราคา 3 ล้านบาท แต่หากบ้านที่สร้างยังอยู่ในสภาพที่ดีและมีอายุใช้งานไปถึง 30 ปี ท่านลองคิดดูนะครับว่าถ้าเรากู้เงินธนาคารมาสร้างบ้าน(โดยทั่วไประยะเวลาการขอกู้ก็ประมาณ 15 ปี) เมื่อส่งค่างวดเงินกู้ธนาคารครบแล้ว ปรากฏว่าต้องทุบทิ้งและไปกู้ธนาคารมาสร้างใหม่อีก คำนวณดูซิครับว่าจ่ายแพงกว่ากันเท่าไรและเมื่อวันนั้นมาถึง…สงสัยว่าลูกหลานเรา คงจะอวยพรบรรพบุรุษเช่นเราเป็นแน่ครับ