การแก้ไขอาคารทรุดตัว(ตอน3)

มีท่านผู้อ่านหลายท่านเขียนมาถามเกี่ยวกับปัญหาบ้านทรุด หลายท่านเป็นกังวลว่าจะแก้ไขไม่ได้.....กลัวบ้านจะพังไม่ทราบจะทำอย่างไรดี บางท่านก็สงสัยว่าบ้านของตัวเองมีปัญหาด้วยหรือไม่ สรุปปัญหาที่ถามมาเป็นหัวข้อหลักๆได้ คือ
• จะทราบได้อย่างไรว่าบ้านเกิดการทรุดตัว
• มีวิธีการตรวจสอบอย่างไรให้ทราบแน่ชัด
• แก้ไขบ้านทรุดได้อย่างไร
• อยากทราบค่าใช้จ่ายในการแก้ไข
จะทราบได้อย่างไรว่าบ้านเกิดการทรุดตัว คำว่าทรุดตัวที่ว่านี้หมายถึงการทรุดตัวที่ผิดปกติ เช่น ฐานรากของบ้านทรุดตัวไม่เท่ากัน หรือฐานรากของบ้านทรุดตัวตามกันจนบ้านเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง สำหรับกรณีฐานรากของบ้านทรุดตัวไม่เท่ากันจะทำให้บ้านแตกร้าว ตำแหน่งที่จะแตกร้าวเป็นอันดับแรกคือผนัง เพราะผนังของบ้านส่วนใหญ่เป็นอิฐก่อฉาบปูนจึงแตกร้าวได้ง่ายที่สุด และส่วนที่จะแตกร้าวตามมาคือ คาน พื้น และเสา รอยร้าวที่เกิดแต่ละตำแหน่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือเป็นรอยร้าวที่คมลึกมองเห็นเด่นชัดและมีทิศทางที่แน่นอน รอยร้าวจึงเป็นข้อสังเกตที่จะบ่งชี้ว่ามีปัญหาหรือไม่ ลักษณะของรอยร้าวและวิธีตรวจวัดเหล่านี้ท่านสามารถหาอ่านได้ในฉบับเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน หรือขอข้อมูลได้จาก “คลินิกช่าง” วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ในวันที่มีบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทุกๆวันเสาร์ปลายเดือน สำหรับกรณีบ้านทรุดเอียงซึ่งมักจะเกิดจากฐานรากตัวใดตัวหนึ่งรับน้ำหนักบรรทุกมากแล้วเกิดการทรุดตัวดึงฐานรากตัวอื่นให้ทรุดตัวตามไปด้วยนั้น สภาพการทรุดตัวเช่นนี้โครงสร้างของบ้านไม่เกิดแรงดึงรั้งกันจึงมักจะไม่แตกร้าวอย่างเช่นกรณีแรก และด้วยเหตุที่ไม่มีรอยร้าวให้พบเห็นเจ้าของบ้านจึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร กว่าจะทราบบ้านก็ทรุดเอียงไปมากแล้ว การแก้ไขปัญหาบ้านเอียงยุ่งยากกว่าแก้ไขบ้านที่มีปัญหาฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน เพราะต้องผ่านขั้นตอนการเสริมเสาเข็มแล้วยกบ้านให้ตั้งตรงใหม่ เสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงานมากกว่า ข้อสังเกตสำหรับบ้านทรุดเอียงที่สามารถตรวจสอบและแก้ไขได้แต่เนิ่นๆ คือ ทดลองวางวัสดุทรงกลมที่พื้นแล้วดูว่าวัสดุนั้นกลิ้งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอยู่เสมอหรือไม่ หากกลิ้งไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใดและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งพื้นชั้นล่างและชั้นบนแสดงว่าบ้านมีปัญหาทรุดเอียง ........ ลองเปิดประตูอ้าค้างไว้หากประตูหมุนอ้าออกหรือปิดเองในทิศทางเดิมเสมอ และเกิดขึ้นทั้งชั้นล่างและชั้นบนก็เป็นข้อสังเกตได้ว่าบ้านทรุดเอียง.......หรือสังเกตจากระดับน้ำในตู้ปลา(ถ้ามี)ว่าอยู่สูงจากฐานตู้เท่ากันหรือไม่ หากไม่เท่ากันควรเริ่มตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร จะเป็นเพราะบ้านทรุดได้หรือไม่ มีวิธีการตรวจสอบอย่างไร นอกจากข้อสังเกตที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีการตรวจสอบโดยใช้กล้องสำรวจที่มีความละเอียด การสำรวจวิธีนี้จะใช้ไม้บรรทัดที่มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตรติดกับเสาของบ้าน แล้วใช้กล้องสำรวจตรวจวัดค่า การตรวจวัดค่าจะกระทำอย่างน้อย 3 ครั้ง สำรวจครั้งแรกเป็นการบันทึกค่าเริ่มต้น สำรวจครั้งที่ 2 และ 3 จะบันทึกค่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วนำมาคำนวณหาว่ามีฐานรากใดที่ทรุดตัวผิดปกติและทรุดตัวมากน้อยเท่าใด การสำรวจวิธีนี้จะทำให้ทราบว่าฐานรากตำแหน่งใดที่ควรทำการแก้ไข โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีนี้เมื่อพบว่าบ้านเกิดรอยแตกร้าวในลักษณะที่น่าจะเป็นเพราะฐานรากทรุดตัวผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ทราบผลที่แน่นอนและตัดสินใจได้ว่าควรแก้ไขหรือยัง แก้ไขบ้านทรุดได้อย่างไร ฉบับที่แล้วได้พูดถึงวิธีแก้ไขบ้านทรุดไปแล้ว สรุปโดยย่ออีกครั้งว่าการแก้ไขบ้านทรุดนั้นต้องทำเสาเข็มเสริมฐานรากที่ทรุดตัวเท่านั้น อย่าคาดหวังว่าฐานรากทรุดไปถึงระดับหนึ่งจะหยุดทรุดตัวได้เอง ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากจนทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ เสาเข็มที่ใช้เสริมควรเป็นเสาเข็มที่ไม่มีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นมากขณะติดตั้ง ใช้รับน้ำหนักได้ทันทีและสามารถทำได้ในพื้นที่คับแคบ......บางท่านถามว่าใช้เสาเข็มเจาะได้หรือไม่......ใช้ได้ครับ....สำหรับบ้านที่ทรุดตัวไม่มากนัก หากทรุดตัวรวดเร็วไม่ควรใช้เพราะขณะทำเสาเข็มเจาะจะมีแรงสั่นสะเทือนอาจเป็นตัวเร่งทำให้บ้านทรุดตัวมากจนถึงขั้นวิกฤติได้ ค่าใช้จ่ายในการแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขฐานรากที่ทรุดตัวขึ้นอยู่กับจำนวนเสาเข็มที่เสริม ถ้าเสริมด้วยเสาเข็มเหล็กที่ติดตั้งโดยใช้แม่แรงไฮดรอลิก เป็นเหล็กกลมกลวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. ความลึกประมาณ 18 – 20 ม. ซึ่งเหมาะสำหรับบ้าน 2 – 3 ชั้น ราคาต่อต้นจะอยู่ราวๆ 35,000 – 40,000 บาทต่อต้น หากเป็นเสาเข็มเหล็กหน้าตัดรูปตัว H ราคาจะสูงขึ้นอีกประมาณต้นละ 1,500 – 2,500 บาท ส่วนจะเสริมจำนวนกี่ต้นต่อฐานควรปรึกษาวิศวกรก่อนจะเป็นการดีครับ ฉบับนี้คงตอบได้ครบตามที่หลายท่านถามมา หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างและฐานรากประการใดก็เขียนถามเพิ่มเติมมาได้ จะทยอยตอบในฉบับต่อๆไป สำหรับฉบับหน้าคงได้พูดถึงการยกบ้านกันต่อครับ....สวัสดีครับ ท้ายนี้ขอประชาสัมพันธ์เรื่อง “คลินิกช่าง” กันหน่อยครับ...... “คลินิกช่างพบประชาชน”เดือนนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2548 เวลา 13.00 - 17.00 น. อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ. ซอยรามคำแหง 39 โทร. 02-3192708 -10 ต่อ 302 กรุณาโทร.แจ้งชื่อและระบุปัญหาของท่านล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมวิศวกรอาสาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้บริการ ......รับให้คำปรึกษา 20 ท่านเท่านั้น....ครับ
ภาพแสดงการใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดเสาเข็มลงดินทีละท่อน เสาเข็มแต่ละท่อนยาว 1.00 -1.50 ม. ต่อกันด้วยการเชื่อมไฟฟ้า