ระดับความสูงของพื้นชั้น 1



เตรียมตัวสร้างบ้าน ตอน ระดับความสูงของพื้นบ้านชั้นล่าง และ ความจำเป็นในการถมดิน
คำถามที่น่าสนใจคือ ควรจะถมดินหรือๆไม่ ระดับความสูงของพื้นบ้านชั้นล่างควรจะเป็นเท่าไร ทิดฉุยมีหลักในการพิจารณาดังนี้ครับ
· ต้องดูว่าพื้นถนนหน้าบ้านที่เราจะสร้าง สูงกว่า หรือต่ำกว่า ระดับหน้าดินในแปลงที่ดินของเรา
· ถนนหน้าบ้านนั้น มีการปรับระดับหรือยัง บริเวณใกล้เคียงมีการปรับระดับถนนหรือไม่
· ต้องดูว่าถนนหน้าบ้านนั้น สูงหรือต่ำกว่าถนนใหญ่มากน้อยแค่ไหน
· ต้องดูว่าย่านนั้นๆ มีประวัติน้ำท่วม และ เป็นที่ต่ำหรือไม่
· เข็มที่จะใช้ในการสร้างบ้านหลังนี้ เป็นเข็มตอก หรือ เข็มเจาะ
· ระดับความสูงของดินถม ของบ้านเพื่อนบ้านข้างเคียง
จากปัจจัยข้างต้น ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกอย่างคือ
· เราต้องการให้พื้นชั้นล่าง สูงเท่าไร
· บ้านที่จะสร้างนั้น จะยกลอยจากพื้นดินถม หรือ จะถมดินขึ้นมาเสริม หรือ จะทำทั้งสองอย่าง
· ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง ถมดินขึ้นมาเอาท้องคานวงบนดิน กับ ไม่ต้องถมดินแต่ยกคานลอยขึ้นมา (ค่าใช้จ่ายต่างกัน เป็นหมื่นๆบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน)
· สิ่งที่จะต้องทำต่อไป หลังจากยกคานลอยจากพื้นดิน หรือปั้นดินสูงขึ้นมาเพื่อรับท้องคาน
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจากทิดฉุย
· กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่างก่อน จึงจะคิดถึงเรื่องการถมดิน
· ระดับพื้นบ้านชั้นล่างจะสูงเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับถนนหน้าบ้าน และแนวโน้มในการยกระดับถนนภายหลัง ตีเสียว่า ถ้ามรการยกระดับถนน การยกระดับถนนครั้งหนึ่ง ประมาณ 50 ซ.ม. หากว่ามีการยกระดับสัก 2 ครั้ง บ้านเราไม่ต่ำกว่าถนน คำนวณเอานะครับว่าพื้นชั้นล่างควรจะมีระดับเท่าไร
· เมื่อได้ระดับความสูงของพื้นชั้นล่างที่ต้องการแล้ว มาถึงตรงนี้ต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกัน ระหว่างถมดินขึ้นมารับ กับยกคานเหนือพื้นดิน อะไรคุ้มกว่ากัน
· กรณีที่บ้านของท่านใช้เข็มเจาะ จะได้ดินจำนวนหนึ่งไว้ใช้งาน
· พิจารณาว่าหลังจากใช้วิธีการใด วิธีการหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นต้องทำอะไรเพิ่มอีกไหม เช่นเอาดินมาถมรอบๆบ้านเพิ่ม หรือ ไม่ต้องถมดิน

สองภาพข้างบนนี้ ใช้วิธีการถมดินขึ้นมาจากระดับถนนให้ได้ระดับตามที่ต้องการ จากนั้นก็กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่าง โดยให้สูงกว่าระดับดินถม ประมาณ 80 ซ.ม. ผลคือ บ้านสองหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ต้องถมดินข้างบ้านเพิ่ม

บ้านหลังนี้พื้นชั้นล่างสูงกว่าถนนหน้าบ้าน 130 ซ.ม. ที่ดินก่อนปลูกสร้างสูงเท่าๆกับถนน ใช้เข็มเจาะ การทำคานคอดินใช้วิธีการเอาดินที่ได้จากการทำเข็มเจาะ และ ทรายหยาบ ปั้นรองรับท้องคาน ลักษณะนี้ เมื่อสร้างบ้านเสร็จต้องถมดินรอบๆบ้านเพิ่ม
สองภาพบน และสองภาพล่างเป็นบ้านคนละหลังกัน แต่ใช้วิธีการเดียวกัน คือ ยกคานลอยเหนือพื้นดิน ส่วนที่อยู่ใต้ทองคาน จะต้องหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กปิด หรือ ก่ออิฐปิด เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว จะถมดินรอบๆบ้านเพิ่มก็ได้ จะได้บ้านแบบที่ปลูกอยู่บนเนิน หรือ ไม่ต้องถมดินเสริมก็ได้ แล้วแต่ความชอบของเจ้าของบ้าน
ส่วนการถมดินนั้น หากตัดสินใจถม ดินที่ใช้ถม ไม่ควรใช้เศษอิฐเศษหินจากการก่อสร้างมาถม เพราะอาจทำให้มีปัญหาเวลาตอกเข็ม เช่นถ้าเศษวัสดุก้อนใหญ่อาจทำให้เสาเข็มหนีศูนย์ หรือกรณีใช้เสาเข็มหกเหลี่ยม ในบางจุดเวลากดเข็มทำได้ยากมาก
เมื่อทำการถมดินแล้ว บดอัดเรียบร้อยแล้ว หากประสงค์ที่จะทำการสร้างบ้าน สมารถทำได้เลยครับ ไม่ต้องรอให้ดินยุบตัว เพราะโครงสร้างของบ้านท่านไม่ได้นั่งอยู่บนดิน แต่นั่งอยู่บนเสาเข็มที่ท่านตอกไว้ อนึ่งในกรณีที่ท่านเทพื้นแบบออนกราวด์ กว่าที่ท่านจะได้เทต้องกินเวลาไปอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องสร้างตัวบ้านก่อน ถึงตอนนั้นดินได้ยุบตัวลงไประดับหนึ่งแล้ว