ระดับความสูงของพื้นชั้น 1



เตรียมตัวสร้างบ้าน ตอน ระดับความสูงของพื้นบ้านชั้นล่าง และ ความจำเป็นในการถมดิน
คำถามที่น่าสนใจคือ ควรจะถมดินหรือๆไม่ ระดับความสูงของพื้นบ้านชั้นล่างควรจะเป็นเท่าไร ทิดฉุยมีหลักในการพิจารณาดังนี้ครับ
· ต้องดูว่าพื้นถนนหน้าบ้านที่เราจะสร้าง สูงกว่า หรือต่ำกว่า ระดับหน้าดินในแปลงที่ดินของเรา
· ถนนหน้าบ้านนั้น มีการปรับระดับหรือยัง บริเวณใกล้เคียงมีการปรับระดับถนนหรือไม่
· ต้องดูว่าถนนหน้าบ้านนั้น สูงหรือต่ำกว่าถนนใหญ่มากน้อยแค่ไหน
· ต้องดูว่าย่านนั้นๆ มีประวัติน้ำท่วม และ เป็นที่ต่ำหรือไม่
· เข็มที่จะใช้ในการสร้างบ้านหลังนี้ เป็นเข็มตอก หรือ เข็มเจาะ
· ระดับความสูงของดินถม ของบ้านเพื่อนบ้านข้างเคียง
จากปัจจัยข้างต้น ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกอย่างคือ
· เราต้องการให้พื้นชั้นล่าง สูงเท่าไร
· บ้านที่จะสร้างนั้น จะยกลอยจากพื้นดินถม หรือ จะถมดินขึ้นมาเสริม หรือ จะทำทั้งสองอย่าง
· ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง ถมดินขึ้นมาเอาท้องคานวงบนดิน กับ ไม่ต้องถมดินแต่ยกคานลอยขึ้นมา (ค่าใช้จ่ายต่างกัน เป็นหมื่นๆบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน)
· สิ่งที่จะต้องทำต่อไป หลังจากยกคานลอยจากพื้นดิน หรือปั้นดินสูงขึ้นมาเพื่อรับท้องคาน
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจากทิดฉุย
· กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่างก่อน จึงจะคิดถึงเรื่องการถมดิน
· ระดับพื้นบ้านชั้นล่างจะสูงเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับถนนหน้าบ้าน และแนวโน้มในการยกระดับถนนภายหลัง ตีเสียว่า ถ้ามรการยกระดับถนน การยกระดับถนนครั้งหนึ่ง ประมาณ 50 ซ.ม. หากว่ามีการยกระดับสัก 2 ครั้ง บ้านเราไม่ต่ำกว่าถนน คำนวณเอานะครับว่าพื้นชั้นล่างควรจะมีระดับเท่าไร
· เมื่อได้ระดับความสูงของพื้นชั้นล่างที่ต้องการแล้ว มาถึงตรงนี้ต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกัน ระหว่างถมดินขึ้นมารับ กับยกคานเหนือพื้นดิน อะไรคุ้มกว่ากัน
· กรณีที่บ้านของท่านใช้เข็มเจาะ จะได้ดินจำนวนหนึ่งไว้ใช้งาน
· พิจารณาว่าหลังจากใช้วิธีการใด วิธีการหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นต้องทำอะไรเพิ่มอีกไหม เช่นเอาดินมาถมรอบๆบ้านเพิ่ม หรือ ไม่ต้องถมดิน

สองภาพข้างบนนี้ ใช้วิธีการถมดินขึ้นมาจากระดับถนนให้ได้ระดับตามที่ต้องการ จากนั้นก็กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่าง โดยให้สูงกว่าระดับดินถม ประมาณ 80 ซ.ม. ผลคือ บ้านสองหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ต้องถมดินข้างบ้านเพิ่ม

บ้านหลังนี้พื้นชั้นล่างสูงกว่าถนนหน้าบ้าน 130 ซ.ม. ที่ดินก่อนปลูกสร้างสูงเท่าๆกับถนน ใช้เข็มเจาะ การทำคานคอดินใช้วิธีการเอาดินที่ได้จากการทำเข็มเจาะ และ ทรายหยาบ ปั้นรองรับท้องคาน ลักษณะนี้ เมื่อสร้างบ้านเสร็จต้องถมดินรอบๆบ้านเพิ่ม
สองภาพบน และสองภาพล่างเป็นบ้านคนละหลังกัน แต่ใช้วิธีการเดียวกัน คือ ยกคานลอยเหนือพื้นดิน ส่วนที่อยู่ใต้ทองคาน จะต้องหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กปิด หรือ ก่ออิฐปิด เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว จะถมดินรอบๆบ้านเพิ่มก็ได้ จะได้บ้านแบบที่ปลูกอยู่บนเนิน หรือ ไม่ต้องถมดินเสริมก็ได้ แล้วแต่ความชอบของเจ้าของบ้าน
ส่วนการถมดินนั้น หากตัดสินใจถม ดินที่ใช้ถม ไม่ควรใช้เศษอิฐเศษหินจากการก่อสร้างมาถม เพราะอาจทำให้มีปัญหาเวลาตอกเข็ม เช่นถ้าเศษวัสดุก้อนใหญ่อาจทำให้เสาเข็มหนีศูนย์ หรือกรณีใช้เสาเข็มหกเหลี่ยม ในบางจุดเวลากดเข็มทำได้ยากมาก
เมื่อทำการถมดินแล้ว บดอัดเรียบร้อยแล้ว หากประสงค์ที่จะทำการสร้างบ้าน สมารถทำได้เลยครับ ไม่ต้องรอให้ดินยุบตัว เพราะโครงสร้างของบ้านท่านไม่ได้นั่งอยู่บนดิน แต่นั่งอยู่บนเสาเข็มที่ท่านตอกไว้ อนึ่งในกรณีที่ท่านเทพื้นแบบออนกราวด์ กว่าที่ท่านจะได้เทต้องกินเวลาไปอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องสร้างตัวบ้านก่อน ถึงตอนนั้นดินได้ยุบตัวลงไประดับหนึ่งแล้ว

อย่าเปลี่ยนชนิดของพื้นสำเร็จกับพื้นหล่อ




อย่าสุ่มสี่ สุ่มห้า เปลี่ยนพื้นสำเร็จ กับพื้นหล่อกับที่.. พังแน่นอน ?
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยเลย ว่าผู้รับเหมาบ้านเราหลายคนทำให้เกิดอาคารวิบัติ โดยรู้เท่า ไม่ถึงการณ์ โดยการ เปลี่ยนแปลง แบบวิศวกรรมโครงสร้าง ของพื้น จากพื้นหล่อกับที่ธรรมดา ไปเป็นพื้นสำเร็จ เพื่อการทำงาน ที่ง่ายกว่า… และบางทีก็เปลี่ยนจาก ระบบพื้นสำเร็จ ไปเป็นพื้นหล่อกับที่ ยามที่หาพื้นสำเร็จ ตามแบบไม่ได้ โดยมักจะบอกกับเจ้าของอาคารว่า… "เหมือนกัน"
ธรรมชาติของพื้นทั้งสองระบบนี้แตกต่างกันมาก และทำให้อาคารของท่านพังลงมาได้ง่าย ๆ … หากลองวิเคราะห์ถึงพื้นฐาน ของการรับแรงในคานดู จะเห็นได้ถึงความแตกต่าง อย่างเด่นชัด พื้นสำเร็จ เป็นการวางแผ่นพื้น ลงบนคานสองด้าน คือหัวและท้าย สมมุติว่าพื้นทั้งผืนนั้น ขนาด 6 x 6 เมตร รวมเป็นพื้นที่ 36 ตร.ม. ต้องการให้รับน้ำหนักได้ ตร.ม. ละ 200 กก. ทำให้จะต้องรับน้ำหนักได้ = 36 x 200 = 7,200 กก. และน้ำหนัก 7,200 กก. นั้นจะถ่ายลง บนคานหัวท้าย สองข้าง คานหัวท้าย จะแบ่งน้ำหนักกัน รับตัวละ = 7,200/2 = 3,600 กก. โดยที่คานด้านข้าง อีกสองตัว อาจจะไม่ได้รับแรงกดอะไรเลย ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเท่านั้น…. เมื่อเปลี่ยนพื้นสำเร็จ เป็นพื้นหล่อกับที่ การถ่ายน้ำหนัก จะถ่ายลงยังคานทั้ง 4 ตัว (ด้าน) ทำให้คาน แต่ละตัว ต้องรับน้ำหนัก = 7,200/4 = 1,800 กก. คานด้านข้างทั้งสอง ที่ออกแบบ ไม่ให้รับน้ำหนักอะไรเลย ก็ต้องมารับน้ำหนัก 1,800 กก. ทำให้คานนั้นหักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีพื้นต่อเนื่อง ทางด้านข้างอีก คานที่ไม่ได้ออกแบบมา ให้รับน้ำหนัก อาจจะต้องรับน้ำหนักถึง 3,600 กก. ทีเดียว ส่วนคานด้านหัวท้าย ออกแบบมาให้รับน้ำหนัก 3,600 กก. กลับมีน้ำหนักลงเพียง 1,800 กก. ซึ่งอาจจะทำให้ เกิดปัญหาอื่น ๆ ต่อเนื่องได้
ทำนองเดียวกัน หากเปลี่ยนพื้นหล่อกับที่ธรรมดามาเป็นพื้นสำเร็จ คานที่ออกแบบหัวท้าย รับเฉลี่ย 4 ส่วน ต้องมารับเฉลี่ยเพียง 2 ส่วน ก็จะรับน้ำหนักมากไป และจะเกิดการวิบัติได้ (ออกแบบไว้รับได้ 1,800 กก. ต้องมารับ 3,600 กก.)

เสาเข็ม

เสาเข็มโดยทั่วไปจะแยกออกได้เป็นสำคัญ 2 ประเภทคือ
- เสาเข็มตอก และ เสาเข็มเจาะ (ส่วนเสาเข็ม พิเศษอื่น ๆ เช่น Micro Pile นั้น หากไม่ใช่วิศวกรก็ไม่น่าจะไปสนใจ)… เสาเข็มตอก และเสาเข็มเจาะเอง ก็ยังแยกออกได้ เป็นอย่างละอีก 2 ประเภท ซึ่งโดยสรุปรวม วิธีการทำงาน และจุดดีจุดด้อย น่าจะสรุป พอเป็นสังเขป ได้ดังต่อไปนี้ :
1. เสาเข็มตอกทั่วไป จะมีหน้าตาต่าง ๆ กัน บางทีก็เป็นสี่เหลี่ยม บางทีก็เป็นหกเหลี่ยม บางทีก็เป็นรูปตัวไอ ซึ่งทุกอย่าง จะมีหน้าตัดตันทั้งต้น เวลาตอก ก็ตอกลงไปง่าย ๆ อย่างที่เราเห็นกันโดยทั่วไป
2. เสาเข็มกลมกลวง เป็นเสาเข็มที่สามารถรับแรงได้มากกว่าเสาเข็มแบบแรก เพราะสามารถ ทำให้โตกว่าได้ ผลิตโดย การปั่นหมุนคอนกรีต ให้เสาเข็มออกมา กลมและกลวง เวลาติดตั้ง ส่วนใหญ่ จะขุดเป็นหลุมก่อน แล้วกดเสาเข็มลงไป พอถึงระดับ ที่ต้องการ จึงจะเริ่มตอก ทำให้มีส่วนของเสาเข็ม ไปแทนที่ดินน้อยลง (ดินถูกขุดออกมาบางส่วนแล้ว) อาคารข้างเคียงเดือดร้อนน้อยลง จากการเคลื่อนตัวของดิน (แต่ความดัง ฝุ่นละออง และความสะเทือน ก็ยังคงอยู่)
3. เสาเข็มเจาะแบบแห้ง เป็นระบบเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะลึกไม่เกิน 20 เมตร (แล้วแต่ ระดับ ชั้นทราย) รับน้ำหนักต่อต้น ได้ไม่เกิน 120 ตัน วิธีการคือเจาะดินลงไป (แบบแห้ง ๆ ) แล้วก็หย่อนเหล็ก เทคอนกรีต ลงไปในหลุม… ราคาจะแพงกว่าระบบเข็มตอก แต่เกิดมลภาวะน้อยกว่ามาก ทั้งเรื่องการ เคลื่อนตัวของดิน ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง จึงเป็นที่นิยมใช้ ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น
4. เสาเข็มเจาะแบบเปียก ทำเหมือนเสาเข็มเจาะแห้ง แต่เวลาขุดดินจะขุดลึก ๆ แล้วใส่สารเคมีลงไป เคลือบผิวหลุมดิน ที่เจาะ ทำหน้าที่เป็นตัวยึดประสานดินและดันดินไม่ให้พังทลายลงเวลาเจาะลึก ๆ (ซึ่งสามารถเจาะได้ลึกถึงกว่า 70 เมตร) รับน้ำหนักได้มากและเกิดมลภาวะน้อย ราคาแพง ส่วนการเลือก ว่าจะใช้เข็มแบบไหนดีนั้น ต้องตั้งข้อสังเกตุ ปัญหาก่อน แล้วเปรียบเทียบ ความจำเป็น- ความเป็นไปได้ ของแต่ละระบบ ในแต่ละงาน โดยยึดถือ ข้อหลักประจำใจ ในการพิจารณาดังนี้ :
ก.) ราคาข.) บ้านข้างเคียง (มลภาวะ)ค.) ความเป็นไปได้ในการขนส่งเข้าหน่วยงานง.) เวลา (ทั้งเวลาทำงาน และเวลาที่ต้องรอคอย)
ในการเลือกระบบเสาเข็มนี้ ต้องขอร้องให้วิศวกรออกแบบเสาเข็มและฐานรากหลาย ๆ แบบดู (อย่าเกิน 3 แบบ) ต้องวิเคราะห์รวม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราคา และเวลา) ของเสาเข็ม และฐานราก จึงจะใช้ เป็น ข้อยุติได้ (หลีกเลี่ยง เสาเข็มราคาถูก ทำเร็ว แต่ทำให้ฐานรากราคาแพงและล่าช้า ทำให้ทั้งโครงการ ล่าช้าไปหมด)

เลือกวัสดุอะไรปูพื้นดี

วัสดุปูพื้นบ้านเราอาจแยกใหญ่ ๆ ได้เป็น 5 - 6 ประเภท วัสดุเหล่านี้แต่ละอย่าง จะมีจุดเด่น จุดด้อยต่างกัน และมักเป็นปัญหาไม่จบสิ้นสำหรับท่านเจ้าของบ้านว่าจะเลือกอะไรดี
1. พื้นไม้จริง เป็นของธรรมดาพื้นบ้านมานมนานกาเล แต่ปัจจุบัน กลายเป็นความใฝ่ฝัน ที่หลายคนอยากมี แต่ก่อนจะวางพื้นไม้บนตงและคาน ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้ มักจะปูบนพื้นคอนกรีตอีกที (ซึ่งต้องระมัดระวังวิธีกรรมในการปูให้ถูกต้อง ต้องมีการวางระแนงไม้ฝังในคอนกรีต และสูงกว่าผิวคอนกรีต ประมาณ 2 ซม. เพื่อความยืดหยุ่น และไม่โก่งงอ จากการอัดเข้าลิ้นภายหลัง) ราคาพื้นไม้นี้จะแพง แต่ให้ความรู้สึกดีมาก
2. พื้นปาเก้ คือชิ้นไม้เล็ก ๆ ที่ปูบนพื้นคอนกรีต มีทั้งแบบเข้าลิ้นรอบ และไม่เข้าลิ้น ราคาจะถูกกว่าพื้นไม้ธรรมดา สิ่งที่ต้องระวังในการปูก็คือ คอนกรีตจะต้องแห้งสนิท พร้อมทำกันซึมไว้ด้วย กาวจะต้องดี ปูปาเก้แล้วต้องทิ้งไว้นาน ๆ เพื่อให้กาวแห้งก่อนขัดพื้น และต้องไม่อัดแผ่นปาเก้แน่นเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจโก่งงอระเบิดได้
3. กระเบื้องเคลือบ ราคาจะมีตั้งแต่ตารางเมตรละ 200 บาท จนถึง 5,000 บาท แล้วแต่ชนิด ของกระเบื้อง ใช้ปูบนพื้นคอนกรีต ที่ไม่จำเป็น ต้องแห้งสนิท แต่ต้องกันซึมไว้เรียบร้อย การปูกระเบื้องเล่นลาย เป็นสิ่งที่ ต้องระวังมาก เพราะกระเบื้อง แต่ละแผ่น แต่ละยี่ห้อ จะมีขนาด - ความหนา ไม่เท่ากัน ทำให้น่าเกลียดกว่า ที่ออกแบบไว้มากทีเดียว ปัญหา ของการ ปูกระเบื้อง ก็คือ กระเบื้อง มักขาดตลาด (ในลายที่ต้องการ) และหากเสียหาย แตกหักภายหลัง จะหาอะไหล่ มาทดแทน ไม่ได้ (ควรเก็บสต็อค กระเบื้องที่ใช้ ไว้บ้าง)
4. หินอ่อน หรือแกรนิต เป็นของที่นิยมใช้กันมากขึ้น เพราะราคา เริ่มใกล้เคียง กับวัสดุปูพื้น อย่างอื่น สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ การเตรียมพื้นผิว จะต้องเผื่อระดับ ปูนทราย ไว้ให้หนา (ประมาณ 2-3 ซม.) ไม่เช่นนั้น พื้นหินอ่อน จะปรับระดับไม่ได้ และต้องคิด ไว้เสมอว่า หินอ่อนเป็นของธรรมชาติ ซึ่งคุณจะเลือกลาย ดังใจนึก ไม่ได้ และอย่าปูหินอ่อนตากแดด ไม่เช่นนั้น จะเป็นฝ้าเป็นฟางหมด
5. พื้นพรม เป็นวัสดุที่สวย นุ่มนวล ไม่แพงนัก หรูหรา ติดตั้งง่าย แต่บำรุงรักษายาก และมีอายุ การใช้งานสั้น หากต้องการ เปลี่ยนบรรยากาศ บ่อย ๆ หรือเร่งงานก่อสร้าง พรมเป็นวัสดุ ที่น่าใช้ ทีเดียว
6. กระเบื้องยาง เป็นสิ่งสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ มีทั้งเป็นแผ่นเล็ก ๆ และเป็นผืนใหญ่ ทนทานดีทีเดียว เมื่อเทียบกับราคา บำรุงรักษาไม่ยากนัก แต่ให้ความรู้สึก ที่เป็นสำนักงาน มากไปหน่อย ปรับเปลี่ยนง่าย แต่ต้องระวังให้ดี ว่าพื้นผิวที่เตรียมไว้ ปูกระเบื้องยาง จะต้องเรียบดี เป็นระดับ ต้องแห้ง และกันซึม ไม่เช่นนั้น เมื่อใช้งานแล้ว จะเป็นหลุม หรือหลุดร่อน

สาเหตุของการทรุดตัว

สาเหตุสำคัญสำหรับเหตุการณ์ข้างต้น (ตามคำถาม) ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการต่อเชื่อมโครงสร้าง ที่มีเข็มดาม ไม่เท่ากัน หรือบางส่วน ไม่มีเสาเข็มเลย เช่น ถนน หรือพื้น (บางส่วน) หรือคาน ที่ส่วนใหญ่ ใช้บริเวณ รอบนอกอาคาร ตอกเสาเข็มขนาดเล็ก นำไปเชื่อมต่อกับ อาคารใหญ่ ที่ใช้เสาเข็มขนาดใหญ่ การทรุดตัวไม่เท่ากัน เกิดการฉีกขาด หักเสียหาย

การต่อเติมอาคารให้ถูกต้อง

ต่อเติมบ้านอย่างไรให้ถูกต้องปัญหาที่ถูกถามค่อนข้างบ่อยจากประชาชนที่มาขอคำปรึกษากับคลีนิคช่างคือต่อเติมบ้านแล้วมีปัญหากับบ้านข้างเคียง ซึ่งน่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ทั้งท่านเจ้าของบ้านที่จะต่อเติมและบ้านข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบทั้งขณะต่อเติมและหลังจากต่อเติมแล้ว ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านเดี่ยวทั้งหลายมักคิดเองเสมอว่ามีพื้นที่เหลือจะต่อเติมบ้านอย่างไรก็ได้ในพื้นที่ของตัวเอง
มาดูเรื่องกฎหมายก่อนว่ากำหนดไว้อย่างไร สำหรับการขออนุญาตปลูกสร้าง พอที่จะสรุปได้แบบอ่านเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
1. การปลูกสร้างบ้าน ต้องมีพื้นที่ว่างที่ไม่มีหลังคาปกคลุม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ที่ดิน
2. ผนังบ้านจะต้องเว้นห่างจากรั้ว โดยผนังด้านที่มีช่องเปิดช่องแสง,หน้าต่าง,ประตู สำหรับบ้าน 2 ชั้น จะต้องเว้นห่างจากรั้วไม่น้อยกว่า 2 เมตร ถ้าเป็นผนังทึบและข้างบ้านไม่ยินยอม ต้องเว้นห่างอย่างน้อย 0.50 เมตร
3. การปลูกสร้างโดยต่อเติมหรือดัดแปลงอาคาร ซึ่งจำเป็นต้องได้รับอนุญาตนั้นมีกำหนดดังนี้
3.1 ขยายพื้นชั้นหนึ่งชั้นใด ตั้งแต่ 5 ตารางเมตร
3.2 เปลี่ยนหลังคา หรือขยายหลังคาให้ปกคลุมเนื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม
3.3 เพิ่ม – ลด จำนวน หรือเปลี่ยนเสา คาน บันได และผนัง
จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายแล้ว บ้านที่ซื้อมามักไม่สามารถต่อเติมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะส่วนใหญ่บ้านในโครงการจัดสรร มักจะสร้างเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว เนื่องจากราคาที่ดินค่อนข้างสูง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะต่อเติมบ้านอย่างไรก็ตาม ถ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องทำการยื่นขออนุญาตต่อส่วนราชการ ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งอาจจะไม่ได้รับการอนุญาตก็ได้ เป็นที่มาของการต่อเติมเอง โดยไม่ยื่นขออนุญาต โดยให้ช่างรับเหมาเป็นผู้ดำเนินการแล้วรอว่าจะถูกข้างบ้านร้องเรียนเจ้าหน้าที่หรือไม่
ข้อแนะนำสำหรับท่านที่คิดจะต่อเติมบ้าน ทั้งที่ยื่นและไม่ยื่นขออนุญาตมีดังนี้
1. เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างว่าข้างบ้านจะเดือดร้อนจากการต่อเติมของเราบ้างหรือไม่ ทั้งขณะต่อเติม จะเกิดเสียง ฝุ่น รบกวนตลอดเวลา รวมถึงหลังจากต่อเติมแล้ว จะไปบังแดด บังลม หรือทำให้น้ำฝนไหลไปท่วมข้างบ้านหรือไม่
2. ถึงแม้ว่าจะขออนุญาตถูกต้อง การก่อสร้างต่อเติมหากไปทำความเดือดร้อนกับบ้านข้างเคียง ก็อาจถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้องให้หยุดการก่อสร้างได้
3. ควรผูกสัมพันธ์กับข้างบ้านไว้ให้ดี เพื่อลดความขัดแย้ง ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างสามารถดำเนินการให้เสร็จตามที่ต้องการ
4. ก่อนทำการต่อเติม ควรแจ้งเพื่อนบ้านข้างเคียงให้รับทราบว่าเราจะต่อเติมอย่างไร จะเสร็จเมื่อไหร่ เพื่อลดความขัดแย้ง
5. งานการต่อเติมบ้าน จำเป็นต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญ ดังนั้น การคัดเลือกผู้รับเหมาต้องดูให้ดี อย่าใช้ราคาที่เสนอเป็นตัวตัดสิน เพราะอาจมีปัญหาที่แก้กันไม่จบได้ในภายหลัง


บทความโดยนายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข
ประธานคณะกรรมการคลินิกช่าง

ปัญหากระเบื้องปูพื้นระเบิด

เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ใครที่อยู่ในวงการก่อสร้างหรือเจ้าของบ้านที่เพิ่งปูกระเบื้องพื้นไป อาจจะเจอปัญหา ว่ากระเบื้อง (ส่วนใหญ่ที่พื้น) จะปูดหรือระเบิดขึ้นมา มีทั้งระเบิดใหญ่ทั้งพื้น หรือระเบิดเป็นจุด ๆ ที่แผ่นกระเบื้อง (เป็นรอยดำ ๆ น่าเกลียด) ในปัจจุบันปัญหานี้ ก็ยังคงมีอยู่ แม้จะลดน้อยลงไป มากแล้ว สาเหตุ ของกระเบื้องระเบิดนี้ มีหลายสาเหตุ ซึ่งน่าจะมาจาก

1. ใต้พื้นชื้นแฉะระบบพื้นกันความชื้นไม่อยู่ ความชื้นทำให้กระเบื้องพองตัวดันกันจึงปูดขึ้นมา
2. ปูกระเบื้องไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปูนยาแนว น้ำจากด้านบนซึมลงไปใต้กระเบื้องได้ เกิดเหตุแบบ ประการแรก (ดาดฟ้าเกิดมาก เพราะมีอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย)
3. พื้นหรือใต้พื้นหรือปูนปูกระเบื้องผสมผิดส่วน มีความเป็นกรดเป็นด่างสูงมาก ทำลายพื้น-ปูน ฉาบ- กระเบื้อง (แบบนี้ไม่ค่อยระเบิดแต่จะล่อน)
4. กระเบื้องเลว (ตอนนี้กระเบื้องรุ่นนั้น ??? คงหมดตลาดแล้ว)

การแก้ไขอาคารทรุดตัว(ตอน3)

มีท่านผู้อ่านหลายท่านเขียนมาถามเกี่ยวกับปัญหาบ้านทรุด หลายท่านเป็นกังวลว่าจะแก้ไขไม่ได้.....กลัวบ้านจะพังไม่ทราบจะทำอย่างไรดี บางท่านก็สงสัยว่าบ้านของตัวเองมีปัญหาด้วยหรือไม่ สรุปปัญหาที่ถามมาเป็นหัวข้อหลักๆได้ คือ
• จะทราบได้อย่างไรว่าบ้านเกิดการทรุดตัว
• มีวิธีการตรวจสอบอย่างไรให้ทราบแน่ชัด
• แก้ไขบ้านทรุดได้อย่างไร
• อยากทราบค่าใช้จ่ายในการแก้ไข
จะทราบได้อย่างไรว่าบ้านเกิดการทรุดตัว คำว่าทรุดตัวที่ว่านี้หมายถึงการทรุดตัวที่ผิดปกติ เช่น ฐานรากของบ้านทรุดตัวไม่เท่ากัน หรือฐานรากของบ้านทรุดตัวตามกันจนบ้านเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง สำหรับกรณีฐานรากของบ้านทรุดตัวไม่เท่ากันจะทำให้บ้านแตกร้าว ตำแหน่งที่จะแตกร้าวเป็นอันดับแรกคือผนัง เพราะผนังของบ้านส่วนใหญ่เป็นอิฐก่อฉาบปูนจึงแตกร้าวได้ง่ายที่สุด และส่วนที่จะแตกร้าวตามมาคือ คาน พื้น และเสา รอยร้าวที่เกิดแต่ละตำแหน่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือเป็นรอยร้าวที่คมลึกมองเห็นเด่นชัดและมีทิศทางที่แน่นอน รอยร้าวจึงเป็นข้อสังเกตที่จะบ่งชี้ว่ามีปัญหาหรือไม่ ลักษณะของรอยร้าวและวิธีตรวจวัดเหล่านี้ท่านสามารถหาอ่านได้ในฉบับเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน หรือขอข้อมูลได้จาก “คลินิกช่าง” วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ในวันที่มีบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทุกๆวันเสาร์ปลายเดือน สำหรับกรณีบ้านทรุดเอียงซึ่งมักจะเกิดจากฐานรากตัวใดตัวหนึ่งรับน้ำหนักบรรทุกมากแล้วเกิดการทรุดตัวดึงฐานรากตัวอื่นให้ทรุดตัวตามไปด้วยนั้น สภาพการทรุดตัวเช่นนี้โครงสร้างของบ้านไม่เกิดแรงดึงรั้งกันจึงมักจะไม่แตกร้าวอย่างเช่นกรณีแรก และด้วยเหตุที่ไม่มีรอยร้าวให้พบเห็นเจ้าของบ้านจึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร กว่าจะทราบบ้านก็ทรุดเอียงไปมากแล้ว การแก้ไขปัญหาบ้านเอียงยุ่งยากกว่าแก้ไขบ้านที่มีปัญหาฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน เพราะต้องผ่านขั้นตอนการเสริมเสาเข็มแล้วยกบ้านให้ตั้งตรงใหม่ เสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงานมากกว่า ข้อสังเกตสำหรับบ้านทรุดเอียงที่สามารถตรวจสอบและแก้ไขได้แต่เนิ่นๆ คือ ทดลองวางวัสดุทรงกลมที่พื้นแล้วดูว่าวัสดุนั้นกลิ้งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอยู่เสมอหรือไม่ หากกลิ้งไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใดและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งพื้นชั้นล่างและชั้นบนแสดงว่าบ้านมีปัญหาทรุดเอียง ........ ลองเปิดประตูอ้าค้างไว้หากประตูหมุนอ้าออกหรือปิดเองในทิศทางเดิมเสมอ และเกิดขึ้นทั้งชั้นล่างและชั้นบนก็เป็นข้อสังเกตได้ว่าบ้านทรุดเอียง.......หรือสังเกตจากระดับน้ำในตู้ปลา(ถ้ามี)ว่าอยู่สูงจากฐานตู้เท่ากันหรือไม่ หากไม่เท่ากันควรเริ่มตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร จะเป็นเพราะบ้านทรุดได้หรือไม่ มีวิธีการตรวจสอบอย่างไร นอกจากข้อสังเกตที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีการตรวจสอบโดยใช้กล้องสำรวจที่มีความละเอียด การสำรวจวิธีนี้จะใช้ไม้บรรทัดที่มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตรติดกับเสาของบ้าน แล้วใช้กล้องสำรวจตรวจวัดค่า การตรวจวัดค่าจะกระทำอย่างน้อย 3 ครั้ง สำรวจครั้งแรกเป็นการบันทึกค่าเริ่มต้น สำรวจครั้งที่ 2 และ 3 จะบันทึกค่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วนำมาคำนวณหาว่ามีฐานรากใดที่ทรุดตัวผิดปกติและทรุดตัวมากน้อยเท่าใด การสำรวจวิธีนี้จะทำให้ทราบว่าฐานรากตำแหน่งใดที่ควรทำการแก้ไข โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีนี้เมื่อพบว่าบ้านเกิดรอยแตกร้าวในลักษณะที่น่าจะเป็นเพราะฐานรากทรุดตัวผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ทราบผลที่แน่นอนและตัดสินใจได้ว่าควรแก้ไขหรือยัง แก้ไขบ้านทรุดได้อย่างไร ฉบับที่แล้วได้พูดถึงวิธีแก้ไขบ้านทรุดไปแล้ว สรุปโดยย่ออีกครั้งว่าการแก้ไขบ้านทรุดนั้นต้องทำเสาเข็มเสริมฐานรากที่ทรุดตัวเท่านั้น อย่าคาดหวังว่าฐานรากทรุดไปถึงระดับหนึ่งจะหยุดทรุดตัวได้เอง ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากจนทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ เสาเข็มที่ใช้เสริมควรเป็นเสาเข็มที่ไม่มีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นมากขณะติดตั้ง ใช้รับน้ำหนักได้ทันทีและสามารถทำได้ในพื้นที่คับแคบ......บางท่านถามว่าใช้เสาเข็มเจาะได้หรือไม่......ใช้ได้ครับ....สำหรับบ้านที่ทรุดตัวไม่มากนัก หากทรุดตัวรวดเร็วไม่ควรใช้เพราะขณะทำเสาเข็มเจาะจะมีแรงสั่นสะเทือนอาจเป็นตัวเร่งทำให้บ้านทรุดตัวมากจนถึงขั้นวิกฤติได้ ค่าใช้จ่ายในการแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขฐานรากที่ทรุดตัวขึ้นอยู่กับจำนวนเสาเข็มที่เสริม ถ้าเสริมด้วยเสาเข็มเหล็กที่ติดตั้งโดยใช้แม่แรงไฮดรอลิก เป็นเหล็กกลมกลวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. ความลึกประมาณ 18 – 20 ม. ซึ่งเหมาะสำหรับบ้าน 2 – 3 ชั้น ราคาต่อต้นจะอยู่ราวๆ 35,000 – 40,000 บาทต่อต้น หากเป็นเสาเข็มเหล็กหน้าตัดรูปตัว H ราคาจะสูงขึ้นอีกประมาณต้นละ 1,500 – 2,500 บาท ส่วนจะเสริมจำนวนกี่ต้นต่อฐานควรปรึกษาวิศวกรก่อนจะเป็นการดีครับ ฉบับนี้คงตอบได้ครบตามที่หลายท่านถามมา หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างและฐานรากประการใดก็เขียนถามเพิ่มเติมมาได้ จะทยอยตอบในฉบับต่อๆไป สำหรับฉบับหน้าคงได้พูดถึงการยกบ้านกันต่อครับ....สวัสดีครับ ท้ายนี้ขอประชาสัมพันธ์เรื่อง “คลินิกช่าง” กันหน่อยครับ...... “คลินิกช่างพบประชาชน”เดือนนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2548 เวลา 13.00 - 17.00 น. อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ. ซอยรามคำแหง 39 โทร. 02-3192708 -10 ต่อ 302 กรุณาโทร.แจ้งชื่อและระบุปัญหาของท่านล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมวิศวกรอาสาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้บริการ ......รับให้คำปรึกษา 20 ท่านเท่านั้น....ครับ
ภาพแสดงการใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดเสาเข็มลงดินทีละท่อน เสาเข็มแต่ละท่อนยาว 1.00 -1.50 ม. ต่อกันด้วยการเชื่อมไฟฟ้า

การแก้ไขอาคารทรุดตัว(ตอน2)

เมื่อพบว่าอาคารทรุดตัวผิดปกติสามารถแก้ไขได้โดยทำเสาเข็มเสริมตรงตำแหน่งฐานรากที่มีปัญหา โดยทั่วไปแล้วเสาเข็มที่ใช้ก่อสร้างอาคารพอแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ เสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะ แต่เสาเข็มที่ใช้ในการเสริมฐานรากเพื่อแก้ไขการทรุดตัวนั้นต้องทำในพื้นที่คับแคบ ดังนั้นเสาเข็มที่ใช้ปั้นจั่นตอกจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ สำหรับเสาเข็มเจาะที่ใช้เครื่องมือชนิดสามขาในการทำงานนั้นอาจนำมาใช้ได้ในบางกรณี แต่ก็ยังต้องการพื้นที่ในการทำงานมากและขณะทำเสาเข็มก็เกิดแรงสั่นสะเทือนมากซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้อาคารทรุดตัวเร็วขึ้น จึงไม่เหมาะกับอาคารที่มีปัญหาทรุดตัวมากๆ เสาเข็มที่เหมาะจะนำมาใช้เสริมฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาการทรุดตัวควรมีคุณสมบัติดังนี้

• สามารถติดตั้งได้ในพื้นที่คับแคบ
• เกิดแรงสั่นสะเทือนน้อยที่สุดในขณะติดตั้ง
• สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ทันทีเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ เสาเข็มชนิดที่สามารถแบกรับน้ำหนักได้ทันทีเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับอาคารที่มีปัญหาทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยชะลอการทรุดตัวไม่ให้ถึงขั้นวิกฤติ เสาเข็มที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้แก่ เสาเข็มที่ติดตั้งด้วยแม่แรงไฮดรอลิก ซึ่งอาจเป็นเสาเข็มชนิดที่เป็นเหล็กรูปพรรณหรือคอนกรีตก็ได้ เท่าที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเป็นเสาเข็มที่ใช้เหล็กรูปพรรณหน้าตัดรูปตัว H หรือ เป็นเสาเข็มที่ทำจากท่อเหล็กกลมกลวง การติดตั้งเสาเข็มประเภทนี้จะเริ่มต้นด้วยการขุดดินตรงตำแหน่งฐานรากที่ต้องการเสริมเสาเข็ม ความกว้างของรูขุดประมาณ 1.50 ม.ลึกประมาณ 2.00 – 2.50 ม. ถัดจากนั้นจะนำเหล็กที่มีหน้าตัดและขนาดตามต้องการมาตัดเป็นท่อนๆความยาวท่อนละ 1.00 – 1.50 ม. นำแต่ละท่อนมากดลงดินตรงตำแหน่งที่ต้องการให้เป็นเสาเข็มเสริม ตำแหน่งเสาเข็มเสริมควรอยู่ใกล้กับเสาตอม่อหรือเสาเข็มเดิมมากที่สุดเพื่อให้สามารถถ่ายแรงได้ดี และมักจะให้เสาเข็มอยู่ใต้ฐานรากหรือคานคอดินเพื่อสะดวกในการกดเสาเข็มลงดิน การกดเสาเข็มลงดินจะนำแม่แรงไฮดรอลิกมาวางบนหัวเสาเข็มเหล็กแล้วโยกแม่แรงขึ้นให้ดันกับคานคอดินหรือฐานราก น้ำหนักของตัวอาคารที่มากกว่าจะทำให้เกิดแรงดันย้อนกลับกดลงบนหัวเสาเข็ม เสาเข็มจะค่อยๆถูกดันลงดินด้วยแรงดันกลับเช่นนี้ เมื่อกดเสาเข็มเหล็กท่อนแรกลงดินจนเกือบมิดแล้วจะนำเหล็กท่อนต่อไปมาต่อโดยการเชื่อม และเมื่อเชื่อมต่อเสร็จแล้วก็จะใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดลงดินในลักษณะเช่นเดิมอีก ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องก็จะได้เสาเข็มที่มีความยาวตามต้องการ กำลังแบกรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มแต่ละต้นจะทราบได้จากตัววัดแรงดันที่ติดอยู่กับคันโยกของแม่แรงไฮดรอลิก เมื่อติดตั้งเสาเข็มแต่ละต้นจนได้ความลึกตามต้องการแล้ว สามารถถ่ายน้ำหนักจากฐานรากที่มีปัญหาลงเสาเข็มใหม่ได้ทันทีโดยการทำคานเหล็กถ่ายแรงหรือทำฐานรากใหม่รองรับฐานรากเดิม โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นอาคารที่มีน้ำหนักลงฐานรากไม่มากนักจะนิยมใช้คานเหล็กถ่ายแรง เพราะคานถ่ายแรงมีน้ำหนักไม่มากเมื่อเทียบกับฐานรากคอนกรีตเป็นการช่วยลดภาระแบกรับน้ำหนักของเสาเข็มเหล็กด้วยระดับหนึ่งขนาดหน้าตัดของเสาเข็มเหล็กที่ใช้จะขึ้นอยู่กับกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มที่ต้องการ ขนาดยิ่งใหญ่ก็จะยิ่งรับน้ำหนักบรรทุกได้มาก ขนาดหน้าตัดของเสาเข็มรูปตัว H ที่นิยมใช้คือ 15 x 15 , 20 x 20 และ 25 x 25 ซม. ความยาวเสาเข็มประมาณ 18 – 23 ม. รับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยได้ประมาณ 15 – 25 ตัน สำหรับเสาเข็มที่ใช้ท่อเหล็กกลมกลวงจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 , 20 และ 25 ซม. ความลึกประมาณ 18 – 23 ม. รับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยได้ประมาณ 15 – 25 ตัน เช่นกัน สำหรับเสาเข็มเหล็กชนิดที่ทำด้วยท่อเหล็กกลมกลวงเมื่อติดตั้งเสาเข็มได้ความยาวตามต้องการแล้ว อาจเทคอนกรีตกรอกลงในรูเข็มเพื่อให้ตัวเสาเข็มมีความแข็งแรงมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นปลายล่างของเสาเข็มมักจะทำเป็นปลายแหลมและเชื่อมปิดปลายเพื่อป้องกันไม่ให้ดินไหลเข้าขณะกดเสาเข็มลงดิน เสาเข็มประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่ราวๆ 35,000 -40,000 บาทต่อต้น ฐานรากแต่ละฐานที่มีปัญหาอย่างน้อยที่สุดต้องใช้เสาเข็มเสริม 1 ต้น หากมีน้ำหนักกดลงฐานรากมากและเสาเข็มเดิมบกพร่องใช้งานไม่ได้เลยอาจต้องเสริมมากกว่า 2 ต้น จำนวนเสาเข็มจะมากน้อยเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ลงฐานรากและสาเหตุการทรุดตัวของฐานรากนั้นๆ ซึ่งควรวิเคราะห์ก่อนที่จะแก้ไข..... เสาเข็มเหล็กหน้าตัดรูปตัว H ยาวท่อนละประมาณ 1.00 - 1.50 ม. ปลายเหล็กติดแผ่นเหล็กประกับไว้ต่อเชื่อม
ท่อเหล็กกลมกลวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. ยาวท่อนละ 1.50 ม. ปลายล่างสุดทำเป็นปลายแหลมเชื่อมปิดปลาย เพื่อป้องกันดินไหลเข้าขณะกดท่อเหล็กลงดิน เมื่อกดท่อนเหล็กลงดินได้ความยาวตามต้องการแล้วจะเทคอนกรีตกรอกลงในรูเสาเข็มเพื่อให้ตัวเสาเข็มมีความแข็งแรง
ขึ้น

การแก้ไขอาคารทรุด(ตอน1)

ลักษณะของรอยร้าวรูปแบบต่างๆที่ได้กล่าวมา คงพอทำให้ท่านผู้อ่านสามารถสำรวจและหาสาเหตุรอยแตกร้าวในบ้านของท่านเองได้ และเมื่อทราบสาเหตุที่แน่นอนแล้วทำการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะทำให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงและปัญหารอยร้าวก็จะหมดไป สำหรับปัญหารอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรับน้ำหนักบรรทุกเกินกำลัง ได้แนะนำให้เสริมโครงสร้างด้วยเหล็กรูปพรรณหรือคาร์บอนไฟเบอร์ไปแล้ว ฉบับนี้จะกล่าวถึงแนวทางแก้ไขเมื่อพบว่าฐานรากของอาคารทรุดตัวผิดปกติว่าควรทำอย่างไรบ้างตามความเป็นจริงแล้วอาคารทุกหลังย่อมต้องมีการทรุดตัว ไม่ว่าอาคารจะวางบนเสาเข็มสั้นหรือยาวเพียงใดก็ตาม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะน้ำหนักที่กดลงเสาเข็มจะส่งผ่านลงสู่ดินโดยรอบ เนื่องจากดินมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงเสียรูปได้ง่ายเมื่อมีน้ำหนักมากระทำดังนั้นเมื่อดินรับน้ำหนักที่ส่งถ่ายมาจากเสาเข็มย่อมเกิดการยุบตัวหรือขยับตัวในระดับหนึ่ง การทรุดตัวของบ้านจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกลงดิน เช่น ขณะกำลังก่อสร้างบ้าน หรือเมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จใหม่ๆ แต่การทรุดตัวที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีปริมาณไม่มากและต้องมีค่าลดน้อยลงจนท้ายที่สุดต้องหยุดการทรุดตัวเมื่อแบกรับน้ำหนักบรรทุกคงที่เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วบ้านที่มีปัญหาทรุดตัวผิดปกติคือ ทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง ทรุดตัวเป็นปริมาณมากๆ ทรุดตัวไม่เท่ากัน หรือทรุดเอียงการทรุดตัวผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดหรือบกพร่องในส่วนของฐานรากทั้งสิ้น และการทรุดตัวที่ผิดปกตินี้จะฟ้องให้เห็นในระหว่างทำการก่อสร้างหรือก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ โดยไม่ต้องรอให้ใช้งานแล้วจึงทรุดตัวให้เห็น เพราะหากฐานรากมีปัญหาบกพร่องเพียงแค่น้ำหนักของอาคารเองก็ไม่สามารถแบกรับไหว ดวยเหตุผลนี้จึงเป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่งสำหรับท่านที่จะเลือกซื้อบ้าน หากบ้านหลังใดมีปัญหาฐานรากก็จะมีรอยแตกร้าวเกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้นควรสำรวจบ้านที่จะซื้อว่ามีรอยร้าวหรือมีแผลเป็นจากการซ่อมแซมที่มีลักษณะคล้ายรอยที่เกิดจากฐานรากทรุดตัวหรือไม่ และทางที่ดีควรทิ้งระยะเวลาอย่างน้อย 2 -3 เดือนเพื่อตรวจซ้ำดูว่ายังเกิดรอยร้าวเช่นเดิมอีกไหมรอยร้าวที่เกิดจากฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากันมักจะเกิดที่ผนังเป็นอันดับแรก และผนังชั้นล่างจะแตกร้าวก่อนผนังชั้นบน รอยร้าวอาจเกิดที่กลางผนังเป็นรอยแตกเฉียง หรือเกิดที่ผนังใกล้ขอบเสา หากเป็นรอยแตกที่กลางผนังให้ลากเส้นตั้งฉากคร่อมรอยร้าวปลายเส้นด้านล่างจะชี้ตำแหน่งฐานรากที่ทรุดตัว หากแตกที่ผนังขอบเสาให้สังเกตว่าปลายของรอยร้าวโค้งไปทางด้านใด เสาหรือฐานรากที่รอยร้าวโค้งไปหานั้นเป็นตำแหน่งที่เกิดการทรุดตัวนอกเหนือจากรอยแตกที่ผนังแล้วยังมีรอยแตกที่คาน พื้น และเสาที่มีให้สำรวจได้อีก(ฉบับเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน) แต่แนะนำว่าควรแก้ไขทันทีเมื่อพบผนังแตกร้าวในลักษณะดังกล่าวไม่ควรรอจนโครงสร้างส่วนอื่นแตกร้าวก่อนแล้วค่อยแก้เพราะเป็นอันตรายต่อการใช้งานและการแก้ไขจะยุ่งยากมากขึ้น เมื่อพบรอยร้าวที่บ่งชี้ว่าฐานรากของอาคารทรุดตัวผิดปกติ ควรดำเนินการต่อไปนี้
1. ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นข้อสังเกตความเปลี่ยนแปลง เช่น ขีดเส้นตั้งฉากพาดผ่านรอยร้าว วัดความยาวของเส้นไว้ประมาณ 3 – 5 ซม. และขีดเส้นคั่นปลายรอยร้าวพร้อมลงวันเวลาที่ขีดเส้นไว้ หากรอยแตกเพิ่มขึ้นจะสังเกตได้จากความยาวของเส้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือปลายของรอยร้าวแตกเลยเส้นที่ขีดคั่นไว้ทำการตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆจะทำให้ทราบเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากน้อยเท่าใดหากเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในหนึ่งสัปดาห์รอยแตกกว้างและยาวกว่าเดิมมากจัดว่าเป็นอันตรายควรแก้ไขทันที
2 ติดต่อช่างหรือวิศวกรให้ทำการสำรวจสภาพการทรุดตัว วิศวกรหรือช่างจะทำการสำรวจโดยใช้กล้องระดับที่มีความละเอียดสามารถอ่านค่าทรุดตัวได้เป็นจุดทศนิยมของมิลลิเมตร ปกติจะสำรวจสภาพการทรุดตัวสำหรับอาคารหลังหนึ่งๆไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ระยะห่างแต่ละครั้งประมาณ 15 – 30 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สำรวจ ผลสำรวจจะทำให้ทราบว่าฐานรากตำแหน่งใดบ้างที่ทรุดตัวผิดปกติ และมีอัตราการทรุดตัวมากน้อยเท่าใด
3 ปรึกษาวิศวกรเพื่อทำการแก้ไขฐานรากที่ทรุดตัวผิดปกติต้องทำการแก้ไขด้วยการเสริมเสาเข็มใหม่ อย่าเชื่อว่าเมื่อปล่อยให้ทรุดต่อไปแล้วจะหยุดทรุดตัวได้เอง เพราะความบกพร่องของเสาเข็มหรือฐานรากยังคงอยู่และยังทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำปัญหาไปปรึกษาวิศวกรจะได้รับคำแนะนำให้เสริมเสาเข็มพร้อมทั้งแนวทางการค้ำยันและหลักการป้องกันอื่นๆที่ควรเตรียมการ
พื้นถนนด้านนอกของอาคารทรุดจมลงเช่นนี้ เป็นผลจากฐานรากของอาคารทรุดตัวแล้วดึงให้ถนนทรุดตามไปด้วย
การสำรวจสภาพการทรุดตัวของอาคารโดยใช้กล้องระดับที่อ่านค่าได้ละเอียดเป็นจุดทศนิยมของมิลลิเมตร

สร้างบ้านต้องมีค่าออกแบบ

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจริญรุดหน้าไปมากทีเดียวไม่ว่าจะมีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน มีสนามบินที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆของโลก เราพยายามทำตัวให้เจริญตามชาติอื่นๆ จนหลายครั้งลืมมองว่ารากฐานเราแน่นพอที่จะก้าวไปจริงหรือไม่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นบทเรียนได้อย่างดี ถึงการทำตัวเป็นอึ่งอ่างที่พองตัวตามแม่วัวเพื่ออวดให้ลูกอึ่งอ่างดู ดูเหมือนที่พรรณามาดูจะนอกเรื่องไปนิด แต่ผมพยายามจะบอกแฟนๆว่าการจะทำอะไรสักอย่าง อย่าลืมหาความรู้ที่ถูกต้อง มีเหตุมีผล(ไม่ใช่ฟังต่อๆกันมา)ใส่ตัวให้มากที่สุด คิดง่ายๆนะครับว่าทำไมคนเราถึงถูกบังคับให้เรียนนั่นเรียนนี่ กว่าจะจบมาทำงานได้ก็อายุเลยวัยเด็กเสียแล้ว นั่นเป็นเพราะว่าการเรียนมีความสำคัญมากในการทำงานนั่นเอง ความรู้ที่นำมาให้เรียนล้วนเกิดการผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาจนเกิดความรู้จริงแล้วจึงนำมาสอนคนรุ่นหลัง แน่นอนว่าบางอย่างอาจไม่ถูกก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อมาต้องศึกษาของเดิมและปรับปรุงของใหม่ให้ถูกต้องมากยิ่งๆขึ้นไป
คนส่วนหนึ่ง(มากมายทีเดียว)ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของกระบวนการคิด การวางแผน มักมองที่ผลลัพธ์ ตัวอย่างหนึ่งที่พบมากในบ้านเมืองเรา คือค่านิยมในการยกย่องคนหน้าตาดี ผิวขาว รวยๆ มีรถขับ บ้านโตๆ โดยไม่สนใจว่าที่มาว่าเป็นอย่างไร ฉ้อโกงมาหรือไม่ ชั่วหรือดีหรือไม่... มันน่าแปลกใจไม่น้อย จะสังเกตว่าบนข่าวหน้าแรกในหนังสือพิมพ์ ข่าวดาราเปลือยอก กลับดังกว่าข่าวการได้รับเกียรตินิยมของเด็กมหาวิทยาลัย เผลอๆข่าวการศึกษาอยู่หน้ากลางๆด้วยซ้ำ (ไม่เชื่อไปซื้อมาอ่านเลยครับ) บ้านเมืองเราก็เลยอ่อนแอเปรียบเหมือนเด็กน้อยที่พ่อแม่รวยกำลังถูกผู้ใหญ่ฉลาด(ชาติมหาอำนาจ)หลอกให้ทำโน่นทำนี่ตาม เพราะกลัวที่จะต้องถูกมองว่าเชย ไม่ทันสมัย
เช่นเดียวกันกับการสร้างบ้านหลังหนึ่งต้องผ่านกระบวนคิดเพื่อให้ออกมาเป็นแบบก่อสร้างจนกระทั่งก่อสร้างเสร็จสิ้น แต่คนส่วนใหญ่มักมองว่าแบบก่อสร้างเป็นเพียงกระดาษไม่กี่แผ่น ต้องจ่ายค่ากระดาษแพงทำไม โดยลืมคิดไปว่ากระดาษไม่กี่แผ่นนี่แหละจะช่วยให้บ้านท่านเสร็จเรียบร้อย รวดเร็ว ประณีตสวยงาม ได้ประโยชน์เต็มที่ มีความปลอดภัยและประหยัดค่าก่อสร้าง ยกตัวอย่างง่ายๆว่าแบบก่อสร้างนั้นสำคัญเพียงใด เรื่องมีอยู่ว่า......... มีคนอยู่ 2 คน คิดจะแข่งกันทำตู้ไม้ โดยให้ไม้10 ชิ้นเท่ากัน คนแรกรีบนำไม้มาตัดเพราะกลัวเสร็จช้าโดยไม่สนใจว่าไม้จะมีเศษเหลือหรือไม้ไม่พอหรือไม่ ต่างจากอีกคน นำไม้มาหาขนาด วัดความยาว หยิบกระดาษมาร่างแบบ คิดว่าไม้ชิ้นไหนควรวางตรงไหน ตัดตรงไหน ส่วนเหลือนี้จะเอาไปไว้ตรงไหน และเสียเวลาคิด 2 วัน ถามว่า ถ้ามีไม้จำกัดท่านคิดว่าสองคนนี้ใครเสร็จก่อนและได้ตู้ที่สวยงาม ปลอดภัยกว่า????
การก่อสร้างบ้านที่ถุกต้องจำเป็นต้องมีแบบก่อสร้างครับ แต่ถ้าไม่มีแบบหรือแบบไม่ดีเราจะก่อสร้างไปแก้ไขไปย่อมทำได้ แต่ท่านต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อทุบ ทำใหม่ และเสียอารมณ์ความรู้สึก หลายท่านมักเชื่อผู้รับเหมาที่บอกว่า "ผมไม่คิดค่าแบบหรอกทำให้ฟรี" ถามกลับไปว่าเขาก่อสร้างบ้านโดยไม่มีแบบหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ใช่ไหมครับ แล้วในแบบก็ต้องมีลายเซ็นต์สถาปนิก วิศวกร แสดงว่าเขาก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเพื่อให้สถาปนิก วิศวกรหรือคนเขียนแบบใช่ไหมครับ แล้วเขาเอาเงินจากไหน ก็เอาค่าออกแบบบวกไว้กับค่าก่อสร้างยังไงครับ ถามท่านเจ้าของบ้านว่าแบบที่ผู้รับเหมาเขาออกแบบให้โดยที่เราไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขจะตรงใจท่านไหม แล้วความจริงที่ปรากฏก็คือผู้รับเหมาจะไปดูแบบตามหนังสือแล้วนำไปให้เด็กเขียนแบบ(อาจผิดลิขสิทธิ์ได้นะครับ!!!!!!)จากนั้นก็ไปจ้างสถาปนิกเซ็นต์ โดยที่สถาปนิกคนนั้นไม่ได้ออกแบบเองและไม่ได้ถามความต้องการเจ้าของเลย จากนั้นก็ไปบีบวิศวกรเด็กคุมงานของตัวเอง ออกแบบโครงสร้างให้ถูกๆ ก็เลยได้ราคาก่อสร้างที่บวกค่าออกแบบห่วยๆ สมมติว่าหลังนี้ใช้ประมาณ 2,060,000 บาท กับอีกกรณีหนึ่งถ้าท่านจ้างออกแบบต่างหาก ท่านมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน จนแน่ใจว่า เมื่อก่อสร้างจริงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เสียค่าจ้างออกแบบ 60,000 และราคาสร้างบ้าน 2,000,000 บาท ครับดูเหมือนไม่ต่างกัน ราคารวมก็เท่าๆกัน แต่ท่านคิดดีๆนะครับว่าถ้าเลือกแบบแรกเมื่อถึงตอนก่อสร้างจริงๆ ท่านอาจจะไม่ถูกใจส่วนนั้นส่วนนี้ต้องรื้อทุบทำใหม่ เปลี่ยนแปลงโน่นี่ เสียเวลา เสียเงิน บานปลายไหมครับ ก่อให้เกิดงานเพิ่มงานลดตามมามากมาย ปวดหัวมากๆครับ ถ้าเลือกแบบหลังท่านอาจเสียเวลาออกแบบและเถียงกัน แก้ไขในกระดาษจนพอใจก่อนจึงสร้าง แต่ตอนก่อสร้างจะไม่ต้องมาปวดหัวแล้วครับ
มาปฏิวัติวงการก่อสร้างให้ถูกต้อง มีระบบ มีมาตรฐาน กันเถอะครับ ให้เหมือนประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน

หลักของการเลือกบ้านมือสอง

ขั้นตอนแรก ควรสอบถามประวัติของบ้านจากเจ้าของเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน เช่น สร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ผู้ที่ทำการก่อสร้างนั้นมีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในปัจจุบันหรือไม่ มีใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ มีแบบก่อสร้างหรือพิมพ์เขียวที่ถูกต้องหรือไม่ และอาจสอบถามจากเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันเกี่ยวกับบ้านที่จะซื้อ เช่น ประวัติของเจ้าของบ้านเดิม หรือ เรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้นว่าดีหรือไม่ดีเพื่อความเป็นอยู่ที่สุข สบายของท่านและบรรดาสมาชิกในบ้านของท่านในอนาคตด้วยครับ ขั้นตอนที่สอง เป็นการตรวจสอบด้วยสายตาของท่านเองซึ่งมองจากภาพกว้าง ๆ โดยรอบไปสู่ความละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่
1. สภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน เช่น บ้านตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่ม น้ำสามารถท่วมขังได้หรือมีมลภาวะจากเสียง แสง และกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือไม่ มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้หรือเปล่าต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น
2. สภาพโดยรวมของตัวบ้าน ซึ่งการสร้างบ้านที่ดีนั้นควรอยู่ในแนวดิ่ง ไม่เอียง คานและพื้นไม่แอ่นตัวมากจนเห็นได้ชัด มีร่องรอยการซ่อมแซมหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจอาจจำเป็นต้องหาสถาปนิกและวิศวกรในแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยตรวจสอบ
3. ตรวจสอบสภาพรอยร้าวในผนังบ้านเกิดในลักษณะใด เป็นแบบแตกลายงาหรือรอยแตกในแบบ สะเปะ สะปะ หรือไม่ แต่ถ้าพบว่ามีรอยร้าวเอียง ทแยงมุมจากเสาถึงคาน หรือ จากพื้นถึงคาน หรือรอยร้าวในแนวดิ่งจากพื้นถึงคาน ควรหาวิศวกรโยธามาตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างและส่วนประกอบหลัก ๆ ของบ้านยังแข็งแรงอยู่เพราะลักษณะการแตกร้าวดังกล่าวถือว่าอยู่ในขั้นก่อให้เกิดอันตรายได้ครับ การเลือกซื้อบ้านมือสองนั้นมีข้อควรระวังซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการพิจารณาเลือกซื้อบ้านมือสอง นั่นคือ การตรวจสอบรอยร้าวในคานและเสา อันเป็นโครงสร้างส่วนที่สำคัญที่สุดเรื่องความทนทาน แข็งแรงของอาคารบ้านเรือน หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยร้าวในคานและเสาเกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจนะครับ ตั้งสติให้มั่นแล้วดูว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นรอยร้าวประเภทใด ถ้าเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ สั้น ๆ หรือรอยร้าวคล้าย ๆ รอยบนหลังเต่า ก็จงเข้าใจว่าสาเหตุของรอยร้าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปูนที่ใช้ฉาบระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความแข็งแรงหรือรากฐานความมั่นคงของบ้านแต่อย่างใด แต่ถ้ารอยร้าวนั้นเป็นรอยร้าวในแนวดิ่งที่กึ่งกลางของคานบ้าน เพื่อความมั่นใจและความเป็นอยู่ที่ไม่มีผลกระทบในอนาคตก็ควรรีบปรึกษาวิศวกรโยธาครับลำดับต่อมาเป็นการสังเกตดูสภาพพื้นของบ้านหลังนั้น ๆ ซึ่งในหลักการของการพิจารณานั้น บ้านมือสองที่อยู่ในสภาพที่ดี ลักษณะของพื้นไม่ควรมีรอยร้าวเป็นแนวยาวที่กึ่งกลางของแผ่นพื้น และถ้าพื้นคอนกรีตกร่อนจนเห็นเหล็กเสริมเป็นแนวยาว มีสนิมจากเหล็กเป็นแนวยาว หรือเห็นเป็นตาราง แสดงว่าพื้นมีสภาพไม่ค่อยดี หากตรวจสอบแล้วพบว่าบริเวณพื้นนั้นแอ่นเป็นแอ่งตรงกลาง แล้วสงสัยว่าเกิดจากอะไร อย่าพิรี้พิไรยืนพิจารณาให้เสียเวลา ขอให้ลองกระโดดหรือขย่มน้ำหนักดู ถ้ารู้สึกว่าพื้นอ่อนหรือยวบลง (ไม่ใช่กระเทือนหรือกระเด้ง) แสดงว่าผิดปกติ ให้นำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาวิศวกรโยธาก่อนตัดสินใจซื้อและเพื่อความชัดเจนในการวิเคราะห์ก็ควรเตรียมภาพถ่ายของสถานที่ไปให้วิศวกรโยธาดูด้วย
การตรวจสอบระบบการใช้งานของ ประปา และไฟฟ้า ภายในบ้าน ซึ่งนอกจากต้องอยู่ในสภาพการใช้งานได้ดีแล้ว เรื่องของความปลอดภัยก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นจึงมีวิธีการตรวจสอบความพร้อมของระบบภายในเหล่านี้ โดยต้องเริ่มจากการตรวจสอบที่บริเวณผนังของบ้านและใต้ท้องพื้น หรือ เพดานใต้ห้องน้ำว่ามีการรั่วหรือซึมของน้ำหรือไม่ วิธีการนั้นให้ตรวจสอบจากการลองปิดก๊อกทุกตัวภายในบ้านแล้วเช็คที่มิเตอร์น้ำว่ายังเดินอยู่หรือไม่ ถ้าลองปิดก๊อกทุกตัวภายในบ้านแล้วมิเตอร์น้ำยังคงหมุนอยู่แสดงว่ามีน้ำรั่ว ให้รีบตรวจสอบหาจุดที่เป็นต้นเหตุของการรั่วเสียก่อน แต่ถ้าลองปิดก๊อกทุกตัวภายในบ้านแล้วกลับไปตรวจสอบมิเตอร์ ปรากฏว่ามิเตอร์น้ำไม่หมุน นั่นแสดงว่า ระบบของน้ำไม่เป็นปัญหาสามารถใช้งานได้ครับ ส่วนการตรวจระบบไฟฟ้า ไม่ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใดหลังจากที่ลองเปิดไฟแล้วหากสว่างใช้งานได้ทุกดวงก็ถือว่าผ่าน แต่ก็ควรตรวจสอบให้ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ สภาพของสายไฟหรือหม้อแปลง หรือ ทุกส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ไฟหากเป็นสภาพที่เก่ามากแล้ว เช่น สภาพความสมบูรณ์ของสายไฟว่าเสื่อมคุณภาพหรือไม่ ฉนวนที่หุ้มอยู่ภายนอกนั้นมีลักษณะแตก กรอบ หรือไม่ เพราะถึงแม้จะยังใช้งานได้อยู่ก็ไม่ควรประมาท เสียเวลาซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่แค่ครั้งเดียว ยังดีกว่ามานั่งเสียใจจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดภายหลังครับ หากว่าขั้นตอนของการพิจารณาด้วยสายตานั้น ยังไม่แน่ใจว่าสภาพการใช้งานยังคงดีอยู่หรือไม่ คงต้องมีการพึ่งเครื่องมือ หรือ อุปกรณ์เพื่อช่วยตรวจสอบให้มีความแน่ใจมากยิ่งขึ้น เช่น ไม้วัดระดับ สายยางสำหรับไม้วัดระดับ ลูกดิ่ง เป็นต้น หากพบว่าปัญหาที่เกิดนั้นซับซ้อนเกินกว่าความรู้ที่ช่างธรรมดา ทั่ว ๆ ไปนั้นจะแก้ไขได้ ก็ให้ปรึกษาสถาปนิกและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบและแนะนำวิธีการซ่อมแซมที่ถูกต้องในการแก้ไขกันต่อไปและข้อสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ ไม่ควรประหยัดหรือเห็นแก่ของถูก ๆ เพราะอาจต้องเสียเงินมากในภายหลัง อย่าลืมนะครับ ที่คนโบราณท่านมักจะเตือนสติเราว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย เพราะท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายเพราะอยู่ไม่สบายและทางจิตใจเพราะเสียรู้ในการตัดสินใจซื้อบ้านมือสองที่สร้างวีรเวรและวีรกรรมในการซ่อมแซมที่ไม่จบไม่สิ้นครับ

ขั้นตอนการดำเนินการปลูกสร้างบ้าน

ขั้นตอนในการดำเนินการปลูกสร้างบ้าน โดยทั่วไปจะประกอบด้วยขั้นตอนหลักๆดังต่อไปนี้ตอนหลักๆดังนี้

ขั้นตอนการเตรียมที่ดินให้พร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้าง จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ท่านต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสมบูรณ์ หรือจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ให้ผู้รับเหมาเข้าปลูกสร้างบ้านเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน และจะต้องมีทางให้รถเข้าถึงได้โดยสะดวก ดำเนินการถมหรือปรับที่ดินให้มีระดับเรียบสม่ำเสมอก่อนที่จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง จัดสถานที่ที่อยู่อาศัยของคนงานและสุขาชั่วคราว ในบริเวณเดียวกับสถานที่ก่อสร้าง ในกรณีที่ต้องมีการขออนุญาตผ่านทางเข้า–ออกเขตก่อสร้าง หรือต้องมีการเสียค่าอนุญาต หรือค่าใช้จ่ายใดๆในการผ่านทางเข้า–ออกเขตก่อสร้าง ท่านต้องรับเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต และรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายใดๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น
ขั้นตอนการพิจารณาเลือกแบบบ้าน บ้านที่ดีต้องมีพื้นที่ใช้สอยอย่างเต็มที่ และที่สำคัญต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศเมืองร้อนอย่างประเทศไทย สิ่งที่ท่านควรคำนึงถึงในการเลือกแบบบ้านอย่างเหมาะสมกับที่ดิน และงบประมาณของท่านมากที่สุด มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.จำนวน และ อายุ ของคนในครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว

2.การใช้ชีวิตภายในบ้าน สมาชิกในครอบครัวมีพฤติกรรมหรือมีกิจกรรมใดบ้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นตัวกำหนด การจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน

3.สภาพของพื้นที่ สภาพของอากาศ แสงแดดส่องตรงไหนบ้าง โดยจะเป็นตัวกำหนดในการเลือกแบบบ้าน ว่าจะเป็นแบบบ้านในแนวลึก แนวกว้าง หรือ แนวสูง ทั้งหมดที่กล่าวสถาปนิกจะช่วยแนะนำท่านได้มาก
ขั้นตอนการทำสัญญาก่อสร้างบ้าน ท่านควรสัญญาและลงนามด้วยตนเอง แต่หากท่านไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ ท่านควรทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาทำการแทน
ขั้นตอนการเลือกวัสดุและอุปกรณ์งานก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หรือตามที่ได้มีการทำความตกลงกันไว้แล้วในสัญญา
ขั้นตอนการดำเนินงานก่อสร้างบ้าน ดำเนินการขอประปา และไฟฟ้าชั่วคราวเพื่อใช้ในระหว่างการก่อสร้าง และเริ่มงานตอกเข็ม หล่อตอม่อ ติดตั้งเสา คานสำเร็จรูป ต่อมาติดตั้ง โครงหลังคา และวางพื้นสำเร็จรูป หล่อคอนกรีตเชื่อมเสากับคานสำเร็จรูป มุงหลังคา เทพื้น ทับหน้าพื้นสำเร็จรูป เริ่มก่ออิฐผนังงานฉาบปูน แต่งแนว ตั้งวงกบและก่อสร้างเสาเข็ม จากนั้นเริ่มงานสุขาภิบาล พื้นภายนอกและงานสถาปัตยกรรมและรายละเอียดอื่นๆ อาทิ ปูกระเบื้อง งานกระจก งานบันไดฯ และหลังจากนั้นจึงจะเก็บงานส่วนที่เหลือ ได้แก่ งานติดตั้งสวิทซ์ ปลั๊ก ดวงโคม ระบบประปา สุขภัณฑ์ และท่อระบายน้ำ ลำดับถัดมาคือต้องทำความสะอาดบ้านทั้งภายนอกและภายใน
ท้ายที่สุดคือ ขั้นตอนการตรวจสอบสภาพครั้งสุดท้าย และท่านสามารถตรวจสอบบ้านร่วมกับบริษัทรับเหมา และรับมอบบ้าน ถ้ามีการแก้ไขจะดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยจนเป็นที่พอใจ

หน้าที่ของแต่ละคนในงานก่อสร้าง

ใครเป็นใครในงานก่อสร้าง

เจ้าของงาน (Owner) นับได้ว่าเป็นผู้ที่กุมอำนาจไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่า เรื่องเงินๆทองๆ คำมั่นสัญญา การตัดสินใจ ซึ่งถ้าหากเกิดความไม่แน่ใจหรือตัดสินใจไม่แน่นอนไม่ชัดเจนแล้ว ผลเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมกระทบถึงผู้รับจ้างฝ่ายต่างๆนั่นเองครับ เจ้าของงานที่ดีต้องกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ชัดเจนก่อนจัดหาผู้ออกแบบและควรเตรียมข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วนหรือมากที่สุด แล้วแจ้งงบประมาณที่ต้องการใช้ให้ผู้ออกแบบทราบเพื่อให้ออกแบบอยู่ในงบประมาณ ต้องรับทราบค่าใช้จ่ายทั้งที่เกิดจากการว่าจ้างตามข้อตกลงและนอกเหนือข้อตกลง ต้องรักษาคำมั่นสัญญาและปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ที่สำคัญไม่เปลี่ยนแปลงความตั้งใจโดยไม่จำเป็นและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของบุคคลต่างๆ เพื่อให้งานออกมาถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายครับ

ที่ปรึกษา (Consultant) สำหรับโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงหรือสลับซับซ้อนมาก เจ้าของงานอาจจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาบริหารและเป็นที่ปรึกษาจนกระทั่งจบโครงการ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ รอบรู้และตัดสินใจอย่างถูกต้อง ชี้แจงจุดคุ้มทุนต่อเจ้าของงานอย่างตรงไปตรงมาครับผู้ออกแบบ
ผู้ออกแบบ (Design Team) คือผู้ที่เนรมิตความฝันของเจ้าของงานให้เป็นความจริงผ่านทางแผ่นกระดาษ ผู้ออกแบบต้องมีความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถที่ถูกต้อง ออกแบบคุ้มค่ากับการลงทุน ประโยชน์ใช้สอย ถูกกฎหมาย มีความประณีตสวยงาม แข็งแรงและง่ายต่อการซ่อมแซม บำรุงรักษา ผู้ออกแบบที่ดีต้องออกแบบและเขียนแบบ จัดทำรายการก่อสร้าง (Specification) ประกอบแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและวัตถุประสงค์ของเจ้าของงาน ต้องชี้แจง เสนอแนะ รายละเอียดของแบบต่างๆและรายงานต่อเจ้าของงาน ที่ปรึกษา ผู้ควบคุมงาน ตลอดจนผู้รับเหมา เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ถูกต้องและรวดเร็วนั่นเองครับ

ผู้ควบคุมงานหรือจัดการงานก่อสร้าง (Construction Manager) เป็นที่เจ้าของงานว่าจ้างให้ควบคุมดูแลงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบก่อสร้างและถูกตามหลักวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลคนเดียว(สำหรับงานขนาดเล็ก) หรือกลุ่มบุคคลหรือบริษัท(สำหรับงานขนาดใหญ่ มูลค่าก่อสร้างหลักสิบล้านขึ้นไป) โดยจะเป็นชุดเดียวกับผู้ออกแบบ หรือเป็นชุดเดียวกับที่ปรึกษาก็ได้ ผู้ควบคุมงานที่ดีต้องดูแลงานให้ดำเนินไปจนเรียบร้อย หากพบอุปสรรค ควรรีบประสานงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีแก้ไขทันที เพื่อให้งานคล่องตัว ราบรื่น ไม่ใช่รอให้ทำผิดแล้วจึงค่อยจับผิดภายหลัง ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียหาย เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ของทุกฝ่าย

ผู้รับเหมา (Contractor)เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นรูปร่างจริงขึ้นมามาจากแบบที่ปรากฏในแผ่นกระดาษ ซึ่งจะต้องสร้างให้สวยงาม ถูกต้อง แข็งแรงและทนทาน โดยทั่วไป ผู้รับเหมาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้เหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง(ซึ่งรับงานต่อจากผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง) ผู้รับเหมาที่ดีต้องเสนอราคาก่อสร้างในการประกวดราคาด้วยความสุจริตและยุติธรรม ต้องตั้งใจปฏิบัติงานตามเงื่อนไขในสัญญาให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ให้ครบตามเงื่อนไขและมีคุณภาพตามกำหนดในรายการก่อสร้าง และต้องให้ความร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายครับแฟนอาจจะสังเกตได้ว่า ทำไมต้องมีหลายฝ่ายขนาดนี้ จ้างผู้รับเหมาแล้วให้จัดการตั้งแต่ออกแบบจนก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ได้หรือ สำหรับงานเล็กๆ 1-2 ล้านสามารถทำได้ครับ(แล้วที่ผู้รับเหมามักบอกว่าไม่คิดค่าออกแบบ เป็นไปไม่ได้ครับ เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องมีลายเซ็นต์ของวิศวกรและสถาปนิกในแบบอยู่แล้ว เขาเซ็นต์เองไม่ได้หรอกครับ ดังนั้นค่าออกแบบก็ต้องมีอยู่ดี แต่เขาจะบวกเพิ่มในค่าก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของบ้านไม่รู้และมักจะนึกดีใจว่าสร้างบ้านได้ถูก) แต่สำหรับงานใหญ่ๆแล้วควรมีหลายฝ่ายเพื่อคานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เจ้าของงานได้งานก่อสร้างที่ประหยัด มีประโยชน์ มีความประณีต และอยู่อย่างปลอดภัยนั่นเอง

ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการสร้างบ้าน

ปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน(สร้างไม่เสร็จ)ปัญหาการละทิ้งงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง จากผลสำรวจพบว่ามีจำนวนถึง 94 % ที่เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างมิได้ใส่ใจพิจารณาเกี่ยวกับ หลักฐานและหลักแหล่งที่อยู่ของผู้รับจ้างที่แน่นอนและมั่นคง (ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นบริษัทเล็กๆ มีพนักงาน 2 – 3 คน) เช่น ใช้ตึกแถวหรือบ้านเช่าทำเป็นสำนักงาน หรือผู้รับจ้างไม่เคยให้เจ้าของบ้านไปติดต่อที่สำนักงานเลยแต่เป็นผู้มาพบเองทุกครั้ง ฯลฯ ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกให้เป็นผู้สร้างบ้านนั้นจากสถิติ 89 % พบว่าเกิดจาก "ราคาถูกใจ(ราคาถูกเหลือเชื่อ)" และหลงคำพูดโฆษณาชวนเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น แบบบ้านที่จะสร้างเคยมีบริษัทอื่นเสนอราคาไว้ 1.5 ล้านบาท แต่ผู้รับจ้างบอกว่าแพงเกินไป ถ้าจ้างเขาก่อสร้างเฉพาะค่าแรงประมาณ 3 – 4 แสนบาท โดยเจ้าของบ้านจัดซื้อซื้อวัสดุเองรับรองไม่เกิน 1 ล้านบาท ร้อยทั้งร้อยครับ เจอผู้รับจ้างทิ้งงาน ! หรืออีกตัวอย่าง ผู้รับจ้างรายอื่นเสนอราคา 1.5 ล้านบาท แต่รายนี้เสนอราคาและตกลงทำสัญญาราคา 1 ล้านบาท สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้จริง งานงวดที่ 1 งวดที่ 2 ไม่มีปัญหา แต่พองวดที่ 3 เริ่มจะติดขัด ช่างขาดบ้าง วัสดุขาดบ้าง และเริ่มมีการขอเบิกเงินล่วงหน้า โดยเมื่อเกิดปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน ข้อมูลสำรวจพบว่า 98 % เจ้าของบ้านต้องหาผู้รับจ้างรายใหม่มาสร้างใหม่ และต้องจ่ายแพงกว่าไม่ต่ำกว่า 10 - 20 % ของราคาที่เคยคิดว่าแพงแล้ว(1.5 ล้านบาท) ส่วนเจ้าของบ้านอีก 2 % ยกเลิกการสร้างบ้าน(บางคนเป็นโรคประสาทไปเลยก็มีนะครับ)ข้อเสนอแนะ ถ้าจะใช้บริการจากผู้รับจ้างที่ราคาถูกมากๆ(ถูกเหลือเชื่อ) และเราพอใจราคาที่เขาเสนอมาต่ำกว่ารายอื่นๆ ท่านก็ควรจะตรวจสอบหลักแหล่ง หรือหลักฐานที่อยู่ของผู้รับจ้างให้มั่นใจเสียก่อน บ้านเขาอยู่ที่ไหนหรือสำนักงานที่ทำการเป็นของเขาจริงหรือเปล่า หรือว่าเช่าไว้เป็นสำนักงานให้ดูน่าเชื่อถือ ฐานะทางการเงินของเขาเป็นอย่างไร (มิใช่เขามีแค่กระป๋องปูนก็มารับจ้างสร้างบ้านของเรา) หรือถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็เลือกบริษัทรับสร้างบ้าน โดยพิจารณาจากบริษัทที่เขาเปิดเผยตัวเอง ไล่เรียงตั้งแต่อันดับที่ 1 – 20 ของเมืองไทย(น่าจะพอมีให้เลือกถูกใจบ้าง) รับรองไม่เจอปัญหาทิ้งงานแน่นอนครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค หากสมมุติว่าบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามสัญญา ท่านสามารถร้องเรียนไปยังสมาคมให้ช่วยเหลือได้ปัญหาก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ แต่ผลงานการสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานปัญหานี้จากการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของบ้านพบว่า 99 % มีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างทำการก่อสร้าง เพียงแต่เป็นปัญหาเล็กบ้างใหญ่บ้างแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้รับจ้างมือใหม่หรือมืออาชีพที่มีประสพการณ์มานาน และเราเองก็ต้องแยกแยะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากจากการจงใจหรือเกิดจากการพลาดพลั้งในการควบคุมขั้นตอนงานก่อสร้าง รวมทั้งผู้รับจ้างมีหลักการในการแก้ไขให้ถูกต้อง หรือสามารถแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่เป็นปกติได้หรือไม่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการแก้ไขด้วยการยึดหลักวิชาการและประสพการณ์ในฐานะมืออาชีพ(โดยวิศวกรและสถาปนิก) หรือแก้ไขไปตามความเข้าใจหรือด้วยประสบการณ์ในฐานะมือใหม่ อย่าเข้าใจผิดนะครับว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้มีประสพการณ์มานานจะทำงานไม่ผิดพลาดเลย(สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง) เชื่อว่ายังไงก็มีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน เพียงแต่เกิดขึ้นน้อยกว่ามือใหม่บางท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วเป็นมืออาชีพได้ยังไง(วะ) และบ้านที่สร้างจะไม่เกิดปัญหาตามมาหรืออย่างไร ซึ่งก็ต้องขอเรียนว่าโดยหลักการทำงานก่อสร้างทุกประเภทแล้ว แนวทางการออกแบบและคำนวณของสถาปนิกและวิศวกร ตลอดจนวิธีการก่อสร้างเขาจะเผื่อค่าความคลาดเคลื่อน และค่าการยอมรับเอาไว้แล้วครับ ซึ่งผู้รับจ้างที่เป็นมืออาชีพก็จะมีทีมงานสถาปนิกและวิศวกรหรือตัวแทน(โฟร์แมน) เป็นผู้ควบคุมขั้นตอนการก่อสร้างบ้านของท่านครับ และที่แน่ๆท่านได้บ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเข้าอยู่อาศัยได้ ไม่เจอปัญหาทิ้งงาน(เหมือนข้อแรก)ข้อแนะนำ ถ้าท่านไม่มั่นใจว่าปัญหาและข้อบกพร่องของการก่อสร้าง ที่เกิดขึ้นจากผู้รับจ้างหรือบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้รับการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ท่านสามารถขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนกับสมาคมได้ครับ(แต่ถ้าเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่ไม่อยู่ในสมาคม เข้าใจว่าคงไม่สามารถควบคุมกันได้ เพราะว่าไม่รู้ใครเป็นใคร)ปัญหาราคาแพง(ตามความเข้าใจของเรา)พบว่ามีผู้บริโภคที่อยู่ในระหว่างพิจารณาเลือกผู้รับจ้างสร้างบ้านถึง 81 % ตอบว่าบ้านราคาแพง ปัญหานี้ค่อนข้างยากเพราะมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรมากมาย และเจ้าของบ้านก็ไม่สามารถพิจารณารายละเอียดอย่างรู้จริงถึงเงินที่จ่ายไปกับสินค้าและบริการที่ได้รับ แต่มักจะใช้ความรู้สึกหรือวิธีการง่ายๆเปรียบเทียบ โดยเฉพาะวิธีเปรียบเทียบราคายอดฮิตคือ ราคาตารางเมตรละเท่าไร ? เอาเป็นว่าถ้าจะยกตัวอย่างการเปรียบเทียบเฉพาะในกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ในกรณีที่สินค้าและบริการใกล้เคียงกันหรือเกือบไม่แตกต่างกันควรพิจารณาดังนี้ครับกลุ่มที่ 1 1. บ้านสร้างเสร็จแน่นอน(ไม่ต้องเสี่ยงกับบ้านสร้างเสร็จหรือไม่) 2. การก่อสร้างได้มาตรฐานและมีคุณภาพปานกลาง3. มีเงื่อนไขและการบริการก่อนและหลังการขายเหมือนทั่วๆไปกลุ่มที่ 2 1. บ้านสร้างเสร็จแน่นอน(ไม่ต้องเสี่ยงกับบ้านสร้างเสร็จหรือไม่) 2. การก่อสร้างได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี 3. มีเงื่อนไขและการบริการก่อนและหลังการขายปานกลางกลุ่มที่ 31. บ้านสร้างเสร็จแน่นอน(ไม่ต้องเสี่ยงกับบ้านสร้างเสร็จหรือไม่) 2. การก่อสร้างได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง 3. มีเงื่อนไขและการบริการก่อนและหลังการขายครอบคลุมมากกว่า 4. ผลงานและฝีมือการก่อสร้างมีความปราณีตบริษัทที่ก่อสร้างบ้านได้ของกลุ่มที่ 3 จะกำหนดราคาสูงกว่าบริษัทอื่นและไล่เรียงตามลำดับกันไป ซึ่งท่านลองไปชมผลงานของบริษัทเหล่านั้นดูก็จะทราบว่ามีข้อแตกต่างกัน กระผมเปรียบเทียบให้เห็นเช่นนี้ก็ต้องการจะสื่อว่าต้นทุนของผู้รับจ้างในการบริหารจัดการ เพื่อตอบสนองความต้องการของเรานั้นแตกต่างกันครับ ซึ่งหากท่านได้รับสินค้าและการบริการที่ดีแตกต่างก็ย่อมจะจ่ายแพงขึ้นเป็นธรรมดา หากเลือกผู้รับจ้างที่ราคาต่ำลงมาก็ย่อมจะมาจาก การคำนวณต้นทุนค่าบริหารจัดการที่มีขีดจำกัดครับ และประเด็นสำคัญอย่าไปหลงเข้าใจผิดว่าบริษัทที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ราคาบ้านจะแพงกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีการโฆษณา เพราะว่าต้องบวกเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านด้วย ซึ่งขอบอกว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะเท่าที่กระผมทราบมาบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำเหล่านี้ จะใช้งบค่าโฆษณาประมาณ 2 – 2.5 % ของยอดขายต่อปีเท่านั้น ซึ่งบริษัทที่สามารถใช้เงินค่าโฆษณาต่อปีได้สูงก็เพราะมียอดขายต่อปีสูงเช่นกัน แต่หากเราจะมองในแง่บวกในฐานะของผู้บริโภค การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการก็มีผลดีต่อเราในฐานะผู้บริโภคอยู่บ้าง เพราะถือว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริษัทเหล่านี้กล้าเปิดเผยตัวเอง เพื่อต้องการจะสร้างชื่อเสียงของผู้บริหารและองค์กร ซึ่งหากเขามีเจตนาหรือตั้งใจที่จะผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ดีออกมา รับรองว่าการโฆษณานั้นจะกลายเป็นตัวเร่งทำให้เสียชื่อเสียงเร็วขึ้น และเชื่อว่าสินค้าหรือบริษัทก็คงจะอยู่ไม่ได้ในธุรกิจนั้นๆ(โธ่…ใครครับ จะโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคอยู่ได้นานนับ 10 ปี ยกเว้นผิดพลาดบ้างบางครั้ง) ในทางกลับกันผู้ประกอบการที่ไม่เปิดเผยตัวเอง หรือไม่มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ใดๆ เราเองก็จะไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใคร คิดอย่างไร ทำดีหรือไม่ดีไว้อย่างไรบ้าง ท่านคิดว่าแบบใดเสี่ยงกว่ากันครับสุดท้ายอยากจะให้ท่านเจ้าของบ้านตระหนักว่าการลงทุนสร้างบ้านหนึ่งหลังนั้น เราควรจะต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวให้มากๆ หากท่านมองเพียงแค่ค่าก่อสร้างส่วนต่างที่อาจจะแพงกว่า หรือถูกกว่ากันเป็นเงินหลักหมื่นบาทหรือหลักแสนบาท กับราคาค่าก่อสร้างบ้านหลักล้านบาทหรือหลายล้านบาทในวันนี้ มันอาจจะไม่คุ้มค่ากับอนาคตข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้ท่านสร้างบ้านหลังหนึ่งสมมุติว่าราคา 2.8 ล้านบาท โดยเลือกใช้วัสดุทั่วๆไปและไม่ใส่ใจในการก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 10 –15 ปี บ้านที่สร้างชำรุดทรุดโทรมหรือหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าปกติ(โดยทั่วไปโครงสร้างบ้านคอนกรีต วิศวกรจะคำนวณอายุการใช้งานไว้อย่างน้อย 50 ปี) ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นท่านอาจจะต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ แน่นอนว่าท่านจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเป็นเท่าตัวใน 10 – 15 ปีข้างหน้า แต่หากวันนี้ท่านใส่ใจเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพหรือมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน รวมทั้งเลือกผู้รับจ้างที่ก่อสร้างได้มาตรฐาน แม้ว่าราคาบ้านอาจจะแพงกว่า 2 - 3 แสนบาทหรือสมมุติว่าในราคา 3 ล้านบาท แต่หากบ้านที่สร้างยังอยู่ในสภาพที่ดีและมีอายุใช้งานไปถึง 30 ปี ท่านลองคิดดูนะครับว่าถ้าเรากู้เงินธนาคารมาสร้างบ้าน(โดยทั่วไประยะเวลาการขอกู้ก็ประมาณ 15 ปี) เมื่อส่งค่างวดเงินกู้ธนาคารครบแล้ว ปรากฏว่าต้องทุบทิ้งและไปกู้ธนาคารมาสร้างใหม่อีก คำนวณดูซิครับว่าจ่ายแพงกว่ากันเท่าไรและเมื่อวันนั้นมาถึง…สงสัยว่าลูกหลานเรา คงจะอวยพรบรรพบุรุษเช่นเราเป็นแน่ครับ

การขอเลขประจำบ้านและการรื้อถอนบ้าน

การสร้างบ้าน การขอเลขประจำบ้านและการรื้อถอนบ้าน :: กระทรวงมหาดไทย
บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตของคนเรา การมีบ้านเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มชีวิตใหม่ที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นการปลูกสร้างบ้านที่ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ จึงเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองดี และเสริมสร้างความดีงามแก่จิตใจ
ขั้นตอนในการปลูกสร้างบ้าน ในเขตที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารหรือกฎหมายผังเมืองบ้าน หรืออาคารที่จะปลูกสร้าง ต้องได้รับอนุญาตแบบแปลนเสียก่อน และจะสร้างเกินกว่าแบบที่ได้รับอนุญาตไม่ได้ โดยยื่นคำร้องได้ที้สำนักงานเทศบาล สำนักงานเมืองพัทยา และสำนักงานเขต หรือกรุงเทพมหานคร อำเภอ และสำนักงานสุขาภิบาล แล้วแต่กรณี บริเวณนอกเขตควบคุม บ้านหรืออาคารที่จะปลูกสร้างไม่ต้องขออนุญาตสามารถปลูกสร้างได้เลย
การแจ้งการปลูกสร้างบ้านและผู้มีหน้าที่รับแจ้ง เมื่อปลูกสร้างบ้านหรืออาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เจ้าบ้านไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้น ๆ คือ นายทะเบียนท้องถิ่น หรือกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือปลัดอำเภอ หรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ สำนักงานเทศบาล สำนักงานเมืองพัทยา สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี เพื่อขอเลขประจำบ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันปลูกสร้างบ้านเสร็จ หากไม่ไปแแจ้งตามกำหนดมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
หลักฐานที่จะต้องนำไปแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้าน- หนังสือหรือเอกสารการได้รับอนุญาตการปลูกสร้างบ้านหรืออาคาร (เฉพาะในเขตพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายผังเมือง) - สำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวของผู้แจ้งกรณีผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำบัตรประจำตัวของผู้รับมอบ และหนังสือมอบหมาย (ถ้ามี) ไปแสดงด้วย - หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า (ถ้ามี) - ผู้แจ้งให้ยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งพร้อมหลักฐานที่นำไปแสดง- เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการสร้างบ้านใหม่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง
วิธีการรับแจ้งเมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการสร้างบ้านใหม่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้กำหนดเลขประจำบ้านให้พร้อมกับจัดทำทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านต่อไป โดยจะมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการในเรื่องการย้ายบุคคลเข้ามาอยุ่ในทะเบียนบ้านในโอกาสต่อไป หรือจะดำเนินการในคราวเดียวกันก็ได้ ส่วนเลขประจำบ้านที่นายทะเบียนกำหนดให้นั้น ให้เจ้าบ้านไปจัดทำเลขประจำบ้านติดไว้ที่หน้าบ้านหรือที่รั้วบ้านซึ่งเห็นได้ชัดแจ้ง
การรื้อถอนบ้านซึ่งมีเลขประจำบ้านเมื่อได้มีการรื้อถอนบ้านหรืออาคารโดยไม่ประสงค์จะปลูกสร้างใหม่ในที่ดินนั้นอีก หรือรื้อเพื่อไปปลูกสร้างที่อื่น ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันรื้อถอนเสร็จ พร้อมกับนำสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่นายทะเบียนด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
หมายเหตุ : การแจ้งเกี่ยวกับบ้านไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
แหล่งที่มา กระทรวงมหาดไทย

หลักการเลือกผู้รับเหมาเบื้องต้น

การเลือกผู้รับเหมา ที่ดีนั้น ควรมีปัจจัยในการพิจารณาหลายประการด้วยกัน คือ
1. ได้รับการแนะนำจากผู้ที่ไว้ใจได้
2. มีที่อยู่ที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง ผู้รับเหมาที่มีมาตรฐาน ควรมีสำนักงาน หรือบริษัทที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีที่ตั้งของสำนักงานเป็นหลักแหล่ง
3. ผลงาน ผู้รับเหมาที่มีมาตรฐานสามารถกล่าวอ้างถึงผลงานในอดีต สามารถพาชมผลงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันได้โดยไม่ต้องปิดบัง และสามารถแนะนำให้พบกับลูกค้ารายก่อน ๆ ได้ด้วย
4. การประมูลราคา เมื่อเจ้าของบ้านมีแบบก่อสร้างและมีรายการประมาณราคากลาง (จากสถาปนิกและวิศวกร) เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถจัดประมูลราคาก่อสร้าง โดยเชิญผู้รับเหมา 3 - 4 รายเข้ารับฟังคำอธิบายแบบจากสถาปนิกและวิศวกรโดยละเอียด ในส่วนของเจ้าของบ้าน อาจเพิ่มเติมในรายละเอียดพิเศษที่เกี่ยวกับความต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องระดับความประณีตของงาน

การต่อเติมอาคาร

ในการต่อเติมบ้านไม่ให้มีการทรุดร้าวเกิดขึ้นนั้น ในขั้นตอนแรกท่านจะต้องหาวิศวกรมาให้คำปรึกษา แนะนำถึงรูปแบบและความเป็นไปได้ของการต่อเติม ในส่วนของการต่อเติมในแนวราบ(การต่อเติมขยายบริเวณออกทางด้านข้าง)หากหาวิศวกรไม่ได้จริง ๆ ก็อาจสามารถถามเพื่อนบ้านที่ต่อเติมมาแล้วและไม่เกิดปัญหาก็พอจะทำได้ แต่หากเป็นการต่อเติมในแนวดิ่ง(การเพิ่มชั้นของอาคาร) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและควบคุมดูแลการต่อเติมนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้อาคาร เพราะการต่อเติมลักษณะดังกล่าวนี้เองที่เป็นสาเหตุให้อาคารบ้านเรือนเกิดการวิบัติมาแล้วหลายครั้งหลายคราแล้วครับในการต่ออาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นการต่อเติมในแนวราบนั้น ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า โครงสร้างของอาคารเก่าและโครงสร้างของอาคารใหม่ควรจะต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเชื่อมต่อกันโดยเด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะออกแบบและดำเนินการก่อสร้างดีเพียงใด เนื่องจากสาเหตุที่ว่าอาคารใหม่และอาคารเก่านั้นจะมีการทรุดไม่เท่ากัน แม้ว่าขนาดของเสาเข็ม,ฐานราก,เสา,คาน หรือโครงสร้างจะมีขนาดใกล้เคียงกันก็ตามเพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องออกแบบให้อาคารทั้งเก่าและใหม่แยกขาดจากกันเพื่อให้เกิดการทรุดตัวอย่างเป็นอิสระต่อกันนอกจากนั้นก่อนการลงมือต่อเติมอาคาร ควรที่จะต้องตรวจเช็คระยะและขนาดของฐานรากเดิมเสียก่อน เพื่อป้องกันการตอกเสาเข็มผิดพลาดและอาจจะเกิดการ กระทบกระเทือนกับฐานรากเก่าที่มองไม่เห็นเพราะฝังอยู่ใต้พื้นดินและยังที่จะต้องพิจารณาเรื่องวิธีการเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่ากับส่วนที่ต้องต่อเติมใหม่นี้ด้วยนะครับ