ระดับความสูงของพื้นชั้น 1



เตรียมตัวสร้างบ้าน ตอน ระดับความสูงของพื้นบ้านชั้นล่าง และ ความจำเป็นในการถมดิน
คำถามที่น่าสนใจคือ ควรจะถมดินหรือๆไม่ ระดับความสูงของพื้นบ้านชั้นล่างควรจะเป็นเท่าไร ทิดฉุยมีหลักในการพิจารณาดังนี้ครับ
· ต้องดูว่าพื้นถนนหน้าบ้านที่เราจะสร้าง สูงกว่า หรือต่ำกว่า ระดับหน้าดินในแปลงที่ดินของเรา
· ถนนหน้าบ้านนั้น มีการปรับระดับหรือยัง บริเวณใกล้เคียงมีการปรับระดับถนนหรือไม่
· ต้องดูว่าถนนหน้าบ้านนั้น สูงหรือต่ำกว่าถนนใหญ่มากน้อยแค่ไหน
· ต้องดูว่าย่านนั้นๆ มีประวัติน้ำท่วม และ เป็นที่ต่ำหรือไม่
· เข็มที่จะใช้ในการสร้างบ้านหลังนี้ เป็นเข็มตอก หรือ เข็มเจาะ
· ระดับความสูงของดินถม ของบ้านเพื่อนบ้านข้างเคียง
จากปัจจัยข้างต้น ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกอย่างคือ
· เราต้องการให้พื้นชั้นล่าง สูงเท่าไร
· บ้านที่จะสร้างนั้น จะยกลอยจากพื้นดินถม หรือ จะถมดินขึ้นมาเสริม หรือ จะทำทั้งสองอย่าง
· ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง ถมดินขึ้นมาเอาท้องคานวงบนดิน กับ ไม่ต้องถมดินแต่ยกคานลอยขึ้นมา (ค่าใช้จ่ายต่างกัน เป็นหมื่นๆบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน)
· สิ่งที่จะต้องทำต่อไป หลังจากยกคานลอยจากพื้นดิน หรือปั้นดินสูงขึ้นมาเพื่อรับท้องคาน
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจากทิดฉุย
· กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่างก่อน จึงจะคิดถึงเรื่องการถมดิน
· ระดับพื้นบ้านชั้นล่างจะสูงเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับถนนหน้าบ้าน และแนวโน้มในการยกระดับถนนภายหลัง ตีเสียว่า ถ้ามรการยกระดับถนน การยกระดับถนนครั้งหนึ่ง ประมาณ 50 ซ.ม. หากว่ามีการยกระดับสัก 2 ครั้ง บ้านเราไม่ต่ำกว่าถนน คำนวณเอานะครับว่าพื้นชั้นล่างควรจะมีระดับเท่าไร
· เมื่อได้ระดับความสูงของพื้นชั้นล่างที่ต้องการแล้ว มาถึงตรงนี้ต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกัน ระหว่างถมดินขึ้นมารับ กับยกคานเหนือพื้นดิน อะไรคุ้มกว่ากัน
· กรณีที่บ้านของท่านใช้เข็มเจาะ จะได้ดินจำนวนหนึ่งไว้ใช้งาน
· พิจารณาว่าหลังจากใช้วิธีการใด วิธีการหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นต้องทำอะไรเพิ่มอีกไหม เช่นเอาดินมาถมรอบๆบ้านเพิ่ม หรือ ไม่ต้องถมดิน

สองภาพข้างบนนี้ ใช้วิธีการถมดินขึ้นมาจากระดับถนนให้ได้ระดับตามที่ต้องการ จากนั้นก็กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่าง โดยให้สูงกว่าระดับดินถม ประมาณ 80 ซ.ม. ผลคือ บ้านสองหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ต้องถมดินข้างบ้านเพิ่ม

บ้านหลังนี้พื้นชั้นล่างสูงกว่าถนนหน้าบ้าน 130 ซ.ม. ที่ดินก่อนปลูกสร้างสูงเท่าๆกับถนน ใช้เข็มเจาะ การทำคานคอดินใช้วิธีการเอาดินที่ได้จากการทำเข็มเจาะ และ ทรายหยาบ ปั้นรองรับท้องคาน ลักษณะนี้ เมื่อสร้างบ้านเสร็จต้องถมดินรอบๆบ้านเพิ่ม
สองภาพบน และสองภาพล่างเป็นบ้านคนละหลังกัน แต่ใช้วิธีการเดียวกัน คือ ยกคานลอยเหนือพื้นดิน ส่วนที่อยู่ใต้ทองคาน จะต้องหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กปิด หรือ ก่ออิฐปิด เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว จะถมดินรอบๆบ้านเพิ่มก็ได้ จะได้บ้านแบบที่ปลูกอยู่บนเนิน หรือ ไม่ต้องถมดินเสริมก็ได้ แล้วแต่ความชอบของเจ้าของบ้าน
ส่วนการถมดินนั้น หากตัดสินใจถม ดินที่ใช้ถม ไม่ควรใช้เศษอิฐเศษหินจากการก่อสร้างมาถม เพราะอาจทำให้มีปัญหาเวลาตอกเข็ม เช่นถ้าเศษวัสดุก้อนใหญ่อาจทำให้เสาเข็มหนีศูนย์ หรือกรณีใช้เสาเข็มหกเหลี่ยม ในบางจุดเวลากดเข็มทำได้ยากมาก
เมื่อทำการถมดินแล้ว บดอัดเรียบร้อยแล้ว หากประสงค์ที่จะทำการสร้างบ้าน สมารถทำได้เลยครับ ไม่ต้องรอให้ดินยุบตัว เพราะโครงสร้างของบ้านท่านไม่ได้นั่งอยู่บนดิน แต่นั่งอยู่บนเสาเข็มที่ท่านตอกไว้ อนึ่งในกรณีที่ท่านเทพื้นแบบออนกราวด์ กว่าที่ท่านจะได้เทต้องกินเวลาไปอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องสร้างตัวบ้านก่อน ถึงตอนนั้นดินได้ยุบตัวลงไประดับหนึ่งแล้ว

อย่าเปลี่ยนชนิดของพื้นสำเร็จกับพื้นหล่อ




อย่าสุ่มสี่ สุ่มห้า เปลี่ยนพื้นสำเร็จ กับพื้นหล่อกับที่.. พังแน่นอน ?
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยเลย ว่าผู้รับเหมาบ้านเราหลายคนทำให้เกิดอาคารวิบัติ โดยรู้เท่า ไม่ถึงการณ์ โดยการ เปลี่ยนแปลง แบบวิศวกรรมโครงสร้าง ของพื้น จากพื้นหล่อกับที่ธรรมดา ไปเป็นพื้นสำเร็จ เพื่อการทำงาน ที่ง่ายกว่า… และบางทีก็เปลี่ยนจาก ระบบพื้นสำเร็จ ไปเป็นพื้นหล่อกับที่ ยามที่หาพื้นสำเร็จ ตามแบบไม่ได้ โดยมักจะบอกกับเจ้าของอาคารว่า… "เหมือนกัน"
ธรรมชาติของพื้นทั้งสองระบบนี้แตกต่างกันมาก และทำให้อาคารของท่านพังลงมาได้ง่าย ๆ … หากลองวิเคราะห์ถึงพื้นฐาน ของการรับแรงในคานดู จะเห็นได้ถึงความแตกต่าง อย่างเด่นชัด พื้นสำเร็จ เป็นการวางแผ่นพื้น ลงบนคานสองด้าน คือหัวและท้าย สมมุติว่าพื้นทั้งผืนนั้น ขนาด 6 x 6 เมตร รวมเป็นพื้นที่ 36 ตร.ม. ต้องการให้รับน้ำหนักได้ ตร.ม. ละ 200 กก. ทำให้จะต้องรับน้ำหนักได้ = 36 x 200 = 7,200 กก. และน้ำหนัก 7,200 กก. นั้นจะถ่ายลง บนคานหัวท้าย สองข้าง คานหัวท้าย จะแบ่งน้ำหนักกัน รับตัวละ = 7,200/2 = 3,600 กก. โดยที่คานด้านข้าง อีกสองตัว อาจจะไม่ได้รับแรงกดอะไรเลย ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเท่านั้น…. เมื่อเปลี่ยนพื้นสำเร็จ เป็นพื้นหล่อกับที่ การถ่ายน้ำหนัก จะถ่ายลงยังคานทั้ง 4 ตัว (ด้าน) ทำให้คาน แต่ละตัว ต้องรับน้ำหนัก = 7,200/4 = 1,800 กก. คานด้านข้างทั้งสอง ที่ออกแบบ ไม่ให้รับน้ำหนักอะไรเลย ก็ต้องมารับน้ำหนัก 1,800 กก. ทำให้คานนั้นหักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีพื้นต่อเนื่อง ทางด้านข้างอีก คานที่ไม่ได้ออกแบบมา ให้รับน้ำหนัก อาจจะต้องรับน้ำหนักถึง 3,600 กก. ทีเดียว ส่วนคานด้านหัวท้าย ออกแบบมาให้รับน้ำหนัก 3,600 กก. กลับมีน้ำหนักลงเพียง 1,800 กก. ซึ่งอาจจะทำให้ เกิดปัญหาอื่น ๆ ต่อเนื่องได้
ทำนองเดียวกัน หากเปลี่ยนพื้นหล่อกับที่ธรรมดามาเป็นพื้นสำเร็จ คานที่ออกแบบหัวท้าย รับเฉลี่ย 4 ส่วน ต้องมารับเฉลี่ยเพียง 2 ส่วน ก็จะรับน้ำหนักมากไป และจะเกิดการวิบัติได้ (ออกแบบไว้รับได้ 1,800 กก. ต้องมารับ 3,600 กก.)

เสาเข็ม

เสาเข็มโดยทั่วไปจะแยกออกได้เป็นสำคัญ 2 ประเภทคือ
- เสาเข็มตอก และ เสาเข็มเจาะ (ส่วนเสาเข็ม พิเศษอื่น ๆ เช่น Micro Pile นั้น หากไม่ใช่วิศวกรก็ไม่น่าจะไปสนใจ)… เสาเข็มตอก และเสาเข็มเจาะเอง ก็ยังแยกออกได้ เป็นอย่างละอีก 2 ประเภท ซึ่งโดยสรุปรวม วิธีการทำงาน และจุดดีจุดด้อย น่าจะสรุป พอเป็นสังเขป ได้ดังต่อไปนี้ :
1. เสาเข็มตอกทั่วไป จะมีหน้าตาต่าง ๆ กัน บางทีก็เป็นสี่เหลี่ยม บางทีก็เป็นหกเหลี่ยม บางทีก็เป็นรูปตัวไอ ซึ่งทุกอย่าง จะมีหน้าตัดตันทั้งต้น เวลาตอก ก็ตอกลงไปง่าย ๆ อย่างที่เราเห็นกันโดยทั่วไป
2. เสาเข็มกลมกลวง เป็นเสาเข็มที่สามารถรับแรงได้มากกว่าเสาเข็มแบบแรก เพราะสามารถ ทำให้โตกว่าได้ ผลิตโดย การปั่นหมุนคอนกรีต ให้เสาเข็มออกมา กลมและกลวง เวลาติดตั้ง ส่วนใหญ่ จะขุดเป็นหลุมก่อน แล้วกดเสาเข็มลงไป พอถึงระดับ ที่ต้องการ จึงจะเริ่มตอก ทำให้มีส่วนของเสาเข็ม ไปแทนที่ดินน้อยลง (ดินถูกขุดออกมาบางส่วนแล้ว) อาคารข้างเคียงเดือดร้อนน้อยลง จากการเคลื่อนตัวของดิน (แต่ความดัง ฝุ่นละออง และความสะเทือน ก็ยังคงอยู่)
3. เสาเข็มเจาะแบบแห้ง เป็นระบบเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะลึกไม่เกิน 20 เมตร (แล้วแต่ ระดับ ชั้นทราย) รับน้ำหนักต่อต้น ได้ไม่เกิน 120 ตัน วิธีการคือเจาะดินลงไป (แบบแห้ง ๆ ) แล้วก็หย่อนเหล็ก เทคอนกรีต ลงไปในหลุม… ราคาจะแพงกว่าระบบเข็มตอก แต่เกิดมลภาวะน้อยกว่ามาก ทั้งเรื่องการ เคลื่อนตัวของดิน ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง จึงเป็นที่นิยมใช้ ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น
4. เสาเข็มเจาะแบบเปียก ทำเหมือนเสาเข็มเจาะแห้ง แต่เวลาขุดดินจะขุดลึก ๆ แล้วใส่สารเคมีลงไป เคลือบผิวหลุมดิน ที่เจาะ ทำหน้าที่เป็นตัวยึดประสานดินและดันดินไม่ให้พังทลายลงเวลาเจาะลึก ๆ (ซึ่งสามารถเจาะได้ลึกถึงกว่า 70 เมตร) รับน้ำหนักได้มากและเกิดมลภาวะน้อย ราคาแพง ส่วนการเลือก ว่าจะใช้เข็มแบบไหนดีนั้น ต้องตั้งข้อสังเกตุ ปัญหาก่อน แล้วเปรียบเทียบ ความจำเป็น- ความเป็นไปได้ ของแต่ละระบบ ในแต่ละงาน โดยยึดถือ ข้อหลักประจำใจ ในการพิจารณาดังนี้ :
ก.) ราคาข.) บ้านข้างเคียง (มลภาวะ)ค.) ความเป็นไปได้ในการขนส่งเข้าหน่วยงานง.) เวลา (ทั้งเวลาทำงาน และเวลาที่ต้องรอคอย)
ในการเลือกระบบเสาเข็มนี้ ต้องขอร้องให้วิศวกรออกแบบเสาเข็มและฐานรากหลาย ๆ แบบดู (อย่าเกิน 3 แบบ) ต้องวิเคราะห์รวม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราคา และเวลา) ของเสาเข็ม และฐานราก จึงจะใช้ เป็น ข้อยุติได้ (หลีกเลี่ยง เสาเข็มราคาถูก ทำเร็ว แต่ทำให้ฐานรากราคาแพงและล่าช้า ทำให้ทั้งโครงการ ล่าช้าไปหมด)

เลือกวัสดุอะไรปูพื้นดี

วัสดุปูพื้นบ้านเราอาจแยกใหญ่ ๆ ได้เป็น 5 - 6 ประเภท วัสดุเหล่านี้แต่ละอย่าง จะมีจุดเด่น จุดด้อยต่างกัน และมักเป็นปัญหาไม่จบสิ้นสำหรับท่านเจ้าของบ้านว่าจะเลือกอะไรดี
1. พื้นไม้จริง เป็นของธรรมดาพื้นบ้านมานมนานกาเล แต่ปัจจุบัน กลายเป็นความใฝ่ฝัน ที่หลายคนอยากมี แต่ก่อนจะวางพื้นไม้บนตงและคาน ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้ มักจะปูบนพื้นคอนกรีตอีกที (ซึ่งต้องระมัดระวังวิธีกรรมในการปูให้ถูกต้อง ต้องมีการวางระแนงไม้ฝังในคอนกรีต และสูงกว่าผิวคอนกรีต ประมาณ 2 ซม. เพื่อความยืดหยุ่น และไม่โก่งงอ จากการอัดเข้าลิ้นภายหลัง) ราคาพื้นไม้นี้จะแพง แต่ให้ความรู้สึกดีมาก
2. พื้นปาเก้ คือชิ้นไม้เล็ก ๆ ที่ปูบนพื้นคอนกรีต มีทั้งแบบเข้าลิ้นรอบ และไม่เข้าลิ้น ราคาจะถูกกว่าพื้นไม้ธรรมดา สิ่งที่ต้องระวังในการปูก็คือ คอนกรีตจะต้องแห้งสนิท พร้อมทำกันซึมไว้ด้วย กาวจะต้องดี ปูปาเก้แล้วต้องทิ้งไว้นาน ๆ เพื่อให้กาวแห้งก่อนขัดพื้น และต้องไม่อัดแผ่นปาเก้แน่นเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจโก่งงอระเบิดได้
3. กระเบื้องเคลือบ ราคาจะมีตั้งแต่ตารางเมตรละ 200 บาท จนถึง 5,000 บาท แล้วแต่ชนิด ของกระเบื้อง ใช้ปูบนพื้นคอนกรีต ที่ไม่จำเป็น ต้องแห้งสนิท แต่ต้องกันซึมไว้เรียบร้อย การปูกระเบื้องเล่นลาย เป็นสิ่งที่ ต้องระวังมาก เพราะกระเบื้อง แต่ละแผ่น แต่ละยี่ห้อ จะมีขนาด - ความหนา ไม่เท่ากัน ทำให้น่าเกลียดกว่า ที่ออกแบบไว้มากทีเดียว ปัญหา ของการ ปูกระเบื้อง ก็คือ กระเบื้อง มักขาดตลาด (ในลายที่ต้องการ) และหากเสียหาย แตกหักภายหลัง จะหาอะไหล่ มาทดแทน ไม่ได้ (ควรเก็บสต็อค กระเบื้องที่ใช้ ไว้บ้าง)
4. หินอ่อน หรือแกรนิต เป็นของที่นิยมใช้กันมากขึ้น เพราะราคา เริ่มใกล้เคียง กับวัสดุปูพื้น อย่างอื่น สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ การเตรียมพื้นผิว จะต้องเผื่อระดับ ปูนทราย ไว้ให้หนา (ประมาณ 2-3 ซม.) ไม่เช่นนั้น พื้นหินอ่อน จะปรับระดับไม่ได้ และต้องคิด ไว้เสมอว่า หินอ่อนเป็นของธรรมชาติ ซึ่งคุณจะเลือกลาย ดังใจนึก ไม่ได้ และอย่าปูหินอ่อนตากแดด ไม่เช่นนั้น จะเป็นฝ้าเป็นฟางหมด
5. พื้นพรม เป็นวัสดุที่สวย นุ่มนวล ไม่แพงนัก หรูหรา ติดตั้งง่าย แต่บำรุงรักษายาก และมีอายุ การใช้งานสั้น หากต้องการ เปลี่ยนบรรยากาศ บ่อย ๆ หรือเร่งงานก่อสร้าง พรมเป็นวัสดุ ที่น่าใช้ ทีเดียว
6. กระเบื้องยาง เป็นสิ่งสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ มีทั้งเป็นแผ่นเล็ก ๆ และเป็นผืนใหญ่ ทนทานดีทีเดียว เมื่อเทียบกับราคา บำรุงรักษาไม่ยากนัก แต่ให้ความรู้สึก ที่เป็นสำนักงาน มากไปหน่อย ปรับเปลี่ยนง่าย แต่ต้องระวังให้ดี ว่าพื้นผิวที่เตรียมไว้ ปูกระเบื้องยาง จะต้องเรียบดี เป็นระดับ ต้องแห้ง และกันซึม ไม่เช่นนั้น เมื่อใช้งานแล้ว จะเป็นหลุม หรือหลุดร่อน